HoonSmart.com>>จับตาประชุม กนง. 30 พ.ย. โบรกเกอร์คาดมีแนวโน้ม กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 1.25% ส่งผลบวกหุ้นกลุ่มธนาคาร โบรกเกอร์ชี้เป้า KTB-TTB หุ้นเด่น ให้ราคาเหมาะสม KTB 19-22 บาท และ TTB 1.34-1.59 บาท
บล.บัวหลวง หรือ BLS คาดว่าในการประชุม กนง.ในวันที่ 30 พ.ย. กนง.จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เป็น 1.25% และขึ้นไปเป็น 2.00% ภายในสิ้นปี 2566 ขณะที่ บล.กสิกรไทย หรือ KS มองว่า กนง.จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% เช่นกัน โดยบล.กสิกรไทย ระบุว่าธนาคารทั้ง 7 แห่งที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ของฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ในเดือนต.ค.มีสินเชื่อลดลง 0.1% เทียบกับเดือนก่อน ผลจากสินเชื่อภาครัฐที่ลดลงของ KTB ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น 1.5% ได้แรงหนุนจาก KTB, BAY และ KKP เป็นหลัก ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) ลดลงเหลือ 89.3% จากข้อมูลสินเชื่อเดือน ต.ค.ตอกย้ำถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 4/65 ยังคงมุมมองบวกต่อกลุ่มธนาคารโดยมี KTB และ TTB เป็นหุ้นเด่น
บล.โนมูระพัฒนสิน หรือ CNS ระบุว่า KTB มีแนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 4/65 ที่คาดว่าจะเติบโตเมื่อเทียบงวดเดียวกันปีก่อน โดยได้แรงผลักดันหลักจากการลดลงของค่าใช้จ่ายสำรอง, การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรวม และผลตอบแทนจากสินเชื่อเพิ่มขึ้น ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิคาดจะลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 3/65 เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และค่าใช้จ่ายสำรอง (ECL) เพิ่มขึ้น
ประมาณการผลการดำเนินงาน ปี 2565-2566 CNS คาดว่า KTB มีกำไรสุทธิ 3.36 และ 3.47 หมื่นล้านบาท เติบโต 56% y-y และ 3% y-y ตามลำดับ คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสมปี 2566 22 บาท โดยมองว่า KTB มีคุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่ง จากพอร์ตส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ, KTB มีแนวโน้มเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านทาง Application เป๋าตัง และ Krungthai NEXT โดยให้น้ำหนักการได้ประโยชน์ในระยะกลางถึงยาวที่จะเห็น Data Analysis และ Cross- selling
บล.หยวนต้า หรือ YUANTA มองว่าในไตรมาส 4/65 ผลการดำเนินงานของ KTB จะมีแนวโน้มที่โตต่อได้ทั้ง YoY และ QoQ หนุนจาก NIM ที่จะขยับขึ้นต่อเนื่อง ตามการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ และพอร์ตสินเชื่อที่คาดกลับมาขยายตัว รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าขายประกันที่จะขยับขึ้นหลังเข้าสู่ช่วง High Season ส่วนการตั้งสารองคาดทรงตัวในระดับใกล้เคียงเดิม เนื่องจากบริษัทมีระดับ Coverage Ratio ที่แข็งแรง และพอร์ตสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อในกลุ่มพนักงานราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงสินเชื่อโครงการภาครัฐฯ ที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้คาดบริษัทยังคงรักษาระดับการไหลตกชั้นของ NPL ได้ดี
บล.หยวนต้าปรับประมาณการกำไรสุทธิของ KTB ตั้งแต่ปี 2565 ขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.5% โดยภายใต้ประมาณการใหม่คาด KTB จะมีกำไรสุทธิในปี 2565 ที่ 34,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.2%เทียบกับปีก่อน แนวโน้มธุรกิจของ KTB จะขยายตัวต่อเนื่อง รับผลบวกจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย และมีความโดดเด่นในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแรง นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการเร่งขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทาง Digital Platform “Krungthai NEXT” ที่มีความเชื่อมโยงกับ “เป๋าตัง” มากขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ในแง่ Valuation ราคาหุ้นมี Upside 22.1% จากมูลค่าพื้นฐานใหม่ปี 2566 ที่ 21 บาท และคาดให้ Div.Yield อีก 4.3%คงคำแนะนำ “ซื้อ”
ส่วนมุมมองต่อหุ้น TTB บล.บัวหลวง หรือ BLS ระบุว่ากรณีที่ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ดังนั้นทาง TTB จะปรับขึ้นทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวและคงที่ ซึ่งน่าจะบรรเทาผลกระทบจากค่าธรรมเนียม FIDF และต้นทุนทางการเงินได้ (TTB จะเน้นเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับเงินฝากประจำ มากกว่าเงินฝาก CASA ดังนั้นต้นทุนทางการเงินจึงไม่เพิ่มขึ้นมาก) การบริหารสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่มีประสิทธิภาพจะมีผลอย่างมาก ต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ สินเชื่อรายย่อยจะเป็นตัวหนุนการเติบโตในระยะยาวของ TTB ต้นทุนทางการเงินไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยฝาก CASA จะยังคงทรงตัวอยู่ และคาดว่าธนาคารดิจิทัลจะเป็นเครื่องยนต์หนุนการเติบโตในระยะยาว แนะนำ “ซื้อ” TTB ให้ราคาเป้าหมายพื้นฐาน 1.45 บาท
บล.หยวนต้า ปรับประมาณการกำไรสุทธิของ TTB ขึ้น 4.4% เพื่อสะท้อนถึงภาพรวมของผลการดำเนินงานที่โตต่อได้ในไตรมาส 4/65ภายใต้ประมาณการใหม่คาด TTB จะมีกำไรสุทธิในปี 2565 ที่ 14,133 ล้านบาท เติบโต 34.9%เมื่อเทียบปีก่อน ราคาหุ้น TTB ยังซื้อขายด้วย P/BV ต่ำ 0.56 เท่า ขณะที่ผลการดำเนินงานจะเริ่มแข็งแรงขึ้น แนวโน้มธุรกิจของ TTB กำลังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวขึ้น และเริ่มเห็นผลจากการที่บริษัทปรับพอร์ตมาเน้นสินเชื่อกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น ราคาหุ้น TTB มี Upside 21.8% จากมูลค่าพื้นฐานใหม่ปี 2565 ที่ 1.56 บาท (อิง Prospective P/BV ที่ 0.66x) คงคำแนะนำ“ซื้อ”
#KTB #TTB #BLS #KS #YUANTA #CNS #กนง. #ธนาคาร