HoonSmart.com>>บสย. เผยความสำเร็จ ในช่วง 10 เดือนแรก อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 128,581 ล้านบาท คาดถึงสิ้นปีนี้เพิ่มเป็น 140,000 ล้านบาท สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า 500,000 ล้านบาท ช่วยแก้หนี้ลูกค้าแบงก์ในเชิงรุก ด้วยมาตราการ 3 สี ตั้งเป้าสิ้นปีกว่า 7,000 ราย ส่วนแผนปี 66 เพิ่มหนี้ใหม่-บริหารหนี้เดิม ขาย NPLs หวังให้บริการครบวงจร เปิดตัวนวัตกรรม BCG Model ลดค่าธรรมเนียมจูงใจ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์”ดิจิทัล” ผ่าน LINE TCG First ร่วมมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีผู้ประกอบการขอรับคำปรึกษาแก้หนี้ที่บูธ เกือบ 1,000 ราย
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.มีเป้าหมายช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และแก้หนี้ยั่งยืน แผนการดำเนินงานในปี 2566 ภายใต้ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น การเพิ่มบทบาทบริหารจัดการหนี้ให้มีประสิทธิภาพ จะเริ่มเปิดขายพอร์ต NPLs เพื่อก้าวข้ามจัดการหนี้ที่ธนาคารส่งต่อให้มาค้ำประกัน พร้อมขยายธุรกิจ สานต่อความสำเร็จการดำเนินงานในช่วง 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 128,581 ล้านบาท ได้สินเชื่อจำนวน 78,510 ราย อนุมัติหนังสือค้ำประกัน (LG) 82,461 ฉบับ ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 140,958 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 893,073 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 531,039 ล้านบาท
” บสย.คาดว่าสิ้นปีนี้จะมียอดอนุมัติค้ำประกันถึง 1.4 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับปีก่อนที่มีจำนวน 2.4 แสนล้านบาท ทำให้เรามีสเกลที่ใหญ่เพียงพอ แก้ไม่คุ้ม ก็ต้องขายออกไป เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน คาดว่าจะเริ่มทำในปี 2566 ช่วยให้สามารถบริหารหนี้ได้ครบวงจร”นายสิทธิกรกล่าว
ส่วนธุรกิจที่บสย. ค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ครองสัดส่วน 50% ของยอดค้ำรวม ได้แก่ภาคบริการ 28% ภาคเกษตรกรรม 11% ภาคการผลิตสินค้าและการค้า 11% โดยในภาคการเกษตรมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่น ไต่ระดับจากอันดับ 6 ในปี 2563 สู่อันดับ 2 ในปี 2565
นอกจากนี้ในปี 2566 มีแผนเปิดตัวนวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อรองรับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model โดยการลดค่าธรรมเนียมให้ เช่น 0.25% เพื่อส่งเสริม SMEs ที่นำแนวคิดมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และนำกลับมาใช้ประโยชน์ สร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อลดผลกระทบต่อโลก มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ในปี 2565 ได้เปิดตัว 2 นวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อ ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงิน หรือ Bilateral 7 (BI 7) วงเงิน 11,000 ล้านบาท สำหรับ SMEs ทั่วไปที่ต้องการสินเชื่อแต่ขาดหลักประกัน ค่าธรรมเนียมค้ำประกันระหว่าง 2-3.25% ตามระดับความเสี่ยง ภายใต้คอนซ็ปท์ การพัฒนาร่วมเฉพาะรายสถาบัน
2.ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ RBP (Risk Based Pricing Product) คิดค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยงของ SMEs โดยนำเครื่องมือ Credit Scoring มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการนำร่อง (Sandbox) เพื่อให้บริการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs กลุ่ม Supply Chain
ในปี 2566 บสย.จะเดินหน้ายุทธศาสตร์ Digital Transformation & Financial Gateway อาทิ การนำดิจิทัลเทคโนโลยี มาร่วมพัฒนาการดำเนินงานและการให้บริการ ผ่าน Line TCG First พร้อมเมนูต่างๆ ให้เลือก เช่น บริการตรวจสุขภาพทางการเงิน บริการให้คำปรึกษาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และแก้หนี้ โดยลูกค้า บสย. สามารถลงทะเบียนมาตรการแก้หนี้ บสย. ผ่าน Line TCG First กับ บสย. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ยังได้พัฒนาระบบการให้บริการลูกค้าผ่าน Digital Platform ร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อยกระดับการให้สินเชื่อ และการค้ำประกันด้วย คาดว่าภายในสิ้นปี 2565 มีจำนวนสมาชิก Line TCG First กว่า 20,000 ราย
ด้านการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. ได้ดำเนินการสอดรับนโยบายรัฐบาล ปีแห่งการแก้หนี้ “แก้หนี้ยั่งยืน” ช่วยลูกหนี้หลุดพ้นกับดักหนี้ แก้ไขหนี้ ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ “บสย. พร้อมช่วย” ผ่อนน้อย เบาแรง หรือ มาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว ช่วยแก้หนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ประสบความสำเร็จเกินคาด เพิ่มขึ้นกว่า 80% มีลูกหนี้ บสย. ลงทะเบียน จำนวน 9,809 ราย ได้รับการประนอมหนี้ 4,785 ราย สัดส่วน 49% หรือราว 2,058 ล้านบาท คาดว่า ณ สิ้นปี จะช่วยลูกหนี้ได้กว่า 7,000 ราย
มาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว แก้หนี้ ลูกค้า บสย. เป็นมาตรการที่โดดเด่นในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้กลุ่มไมโคร โดยมาตรการ “สีเขียว” ได้รับความนิยมมากที่สุด 79% ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาผ่อนนาน 7 ปี ตัดเงินต้นทั้งจำนวน โดยชำระครั้งแรกเพียง 10% วงเงินหนี้ ต่อราย 100,000 บาท นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ให้คำปรึกษาฟรี โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม มีผู้ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษา ขอสินเชื่อสูงสุด 1,454 ราย ปรึกษาปรับโครงสร้างหนี้ มากกว่า 515 ราย และพัฒนาธุรกิจ 337 ราย รวมสินเชื่อที่ต้องการกว่า 12,000 ล้านบาท
นายสิทธิกรกล่าวว่า บสย.ได้เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 (4-6 พ.ย.) กรุงเทพฯ และ ครั้งที่ 2 (18-20 พ.ย.) จังหวัดขอนแก่น มีผู้ประกอบการขอรับคำปรึกษาแก้หนี้ที่บูธ บสย. จำนวน 945 ราย ประกอบด้วย ขอสินเชื่อธุรกิจ 164 ราย แก้ไขหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 119 ราย และปรึกษาธุรกิจ 18 ราย และสอบถามและรับบริการทั่วไป 644 ราย