OSP-BGC ฮอต สถาบันไทยและต่างประเทศสนใจซื้อมาก เพิ่มโอกาสทำกำไรเข้าพอร์ต ปัจจุบันหาจากตลาดยาก หุ้นใหญ่หลายตัวราคาขึ้นมามาก
หุ้นขนาดใหญ่ที่เปิดขายครั้งแรกให้นักลงทุนทั่วไป(ไอพีโอ)ในเดือนต.ค.2561 ประสบความสำเร็จสูงมาก เห็นได้จากความต้องการจองซื้อที่ท่วมท้น จนสามารถกำหนดราคาขายได้สูงสุดจากที่ตั้งไว้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท และนักลงทุนสถาบันจำเป็นต้องทำกำไรให้พอร์ต แต่ทำได้ยากในหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขณะนี้ เนื่องจากราคาหุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวขึ้นมามากเกือบเต็มมูลค่า หรือบางตัวซื้อขายสูงกว่าราคาที่เหมาะสมแล้ว
นักลงทุนสถาบันประกาศความต้องการหุ้นบริษัท โอสถสภา (OSP)จำนวนมาก โดยยอมจ่ายในราคาสูงสุดที่ 25 บาท จากช่วงขายที่กำหนดไว้ 22-25 บาทต่อหุ้น มี บล.บัวหลวง และ บล.ภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงินร่วมและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น
ส่วนบริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส ( BGC)นักลงทุนสถาบันได้แสดงความต้องการจองซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 10.20 บาท
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บล.ภัทร กล่าวว่า นักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รับการจัดสรรหุ้น OSP ทั้งสิ้น 419.9 ล้านหุ้น หรือประมาณ 69.5% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 60% ของกำไรสุทธิทั้งหมด
ก่อนการจัดสรรหุ้นครั้งนี้ นายอนุวัฒน์ กล่าวว่า นักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและในต่างประเทศจำนวน 12 รายได้ตกลงจองซื้อหุ้น OSP จำนวน 259.34 ล้านหุ้น หรือประมาณ 43% ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย ซึ่งเป็นการเสนอขายให้ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone investor) ให้แก่ บลจ.บัวหลวง บลจ.ภัทร บลจ.กรุงไทย บลจ.ทิสโก้ บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) AIA Company Limited, Thailand Branch, Aberdeen Standard Investment (Asia) Limited, Templeton Asset Management Ltd., York Capital Asset Management Global Advisory LLC และ The Segantii Asia-Pacific Equity Multi-Strategy Fund
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง กล่าวว่า นักลงทุนตอบรับหุ้น OSP ดีมาก เพราะมองว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และมีแบรนด์สินค้าที่เป็นผู้นำตลาด มีเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีความแข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนและประสิทธิภาพการดำเนินงาน ที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา กล่าวว่า เงินที่ระดมทุนได้จากการขายไอพีโอครั้งนี้ จะถูกนำไปใช้ขยายธุรกิจต่อยอดจากความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในเมียนมา ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ รองจากธุรกิจในประเทศไทย และจะเป็นธุรกิจหลักธุรกิจหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างมูลค่าให้บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นในอนาคต
ทางด้านบริษัท ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง (TIGER) ทำธุรกิจโฮลดิ้ง มีบริษัทแกนประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธาทุกประเภท รวมทั้งงานออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม เตรียมเสนอขายหุ้นจำนวน 122.28 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท/หุ้น ภายในเดือนต.ค. นี้ เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai) คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูงเช่นเดียวกัน