HoonSmart.com>>ไออาร์พีซี- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมวิจัยพัฒนาและออกแบบหมอน ลดอาการกรดไหลย้อน โดยใช้วัสดุของ IRPC ที่ทำมาจาก Memory Foam (PU) มีความหนาแน่นสูง คืนตัวได้ง่าย ป้องกันไรฝุ่น พร้อมจำหน่ายแล้ว 21 พ.ย. นี้ ที่ร้าน ฬ.จุฬา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ศูนย์นวัตกรรมไออาร์พีซี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (IRPC) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะพันธ์ พฤกษพานิช ภาควิชาอายุรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหาร พัฒนาออกแบบ “หมอนพักพิง (PAKPING)” หมอนเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน โดยการปรับองศาทำให้บริเวณศีรษะสูงกว่าบริเวณกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน และช่วยให้คุณภาพการนอนดีขึ้น คลายอาการปวดหลังและคอ สำหรับวัสดุผลิตจาก Memory Foam โพลียูรีเทน (Polyurethane: PU) ของ IRPC ที่มีความหนาแน่นสูง นุ่มและยืดหยุ่น สามารถคืนตัวได้ง่าย รองรับสรีระของผู้ใช้ รวมถึงสามารถป้องกันไรฝุ่น และลดการสะสมของแบคทีเรียและเชื้อรา เริ่มวางจำหน่ายวันที่ 21 พ.ย. 2565 ที่ร้าน ฬ.จุฬา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ทั้งนี้ IRPC และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยังมีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่องานทางการแพทย์ให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมวัสดุที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเชิงพาณิชย์ ในอีกหลายโครงการ
นอกจากนี้ IRPC ได้ร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัว “ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Chula Medical Innovation and Entrepreneurship Center: CMICe (ซี-ไมซ์)” โดยมี คุณพรหมพร สิ้นโศรก ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ตลาดธุรกิจปิโตรเคมี IRPC ร่วมงานเสวนาหัวข้อ “Academic Transformation; From Research to Entrepreneurship” ภายในงานมีกิจกรรมแสดงผลงานและเปิดให้จับจองผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการแพทย์ Medical Innovation for Society Booth โดยทีมนวัตกรรมเพื่อสังคมแห่งอนาคต ณ โถงอาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย