BGC ตั้งราคาขาย 10.20 บาท สถาบันสนใจมาก

บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส กำหนดราคาขาย 10.20 บาท เปิดจอง 8-10 ต.ค. ชูจุดแข็งผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วมากที่สุดในประเทศไทย กำไรพุ่งเท่าตัว มาร์จิ้นสูง

บริษัทบีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) หุ้นละ 10.20 บาท โดยจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 8-10 ต.ค.และคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 18 ต.ค.นี้

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า BGC ได้สำรวจความต้องการซื้อจากนักลงทุนสถาบัน (Book Building) เมื่อวันที่ 3-4 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าได้แสดงความต้องการจองซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 10.20 บาท สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งและศักยภาพการเติบโตในอนาคต

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ BGC กล่าวว่า คาดรายได้ปี 2562 เติบโตใกล้เคียง 10% หลังกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 13% ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2561 และคาดอัตรากำไรสุทธิทั้งปี 2561 ใกล้เคียงครึ่งแรกปีนี้ที่ 5% สูงกว่าปีก่อน หลังต้นทุนกลับสู่ปกติ เน้นสินค้ามาร์จิ้นสูง

บริษัทมีจุดแข็งด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย มีการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ รวมทั้งมีวิสัยทัศน์ก้าวเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับการเสนอขายหุ้นจำนวน 194,444,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 28% ของหุ้นทั้งหมด โดยจะนำเงินไปชำระเงินกู้ยืม ขยายโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วแห่งใหม่ในจังหวัดราชบุรี คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 400 ตันต่อวัน รวมเป็นประมาณ 3,495 ตันต่อวัน

ปัจจุบัน BGC มีบริษัท บางกอกกล๊าส เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กลุ่มบริษัทฯ มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว 3,095 ตันต่อวัน ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย (อ้างอิงจากรายงาน GlobalData Plc วันที่ 2 ก.พ. 2561) เนื่องจากบรรจุภัณฑ์แก้วใช้กันอย่างแพร่หลายและสามารถนำมารีไซเคิลได้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศไทยเพียงไม่กี่ราย การดำเนินธุรกิจของ บีจีฯจึงมีความมั่นคงและมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง

ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561 BGC มีบริษัทย่อยที่ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรวม 6 บริษัท มีเตาหลอมแก้วรวมทั้งสิ้น 10 เตา กำลังการผลิตรวม 3,095 ตันต่อวัน โดยมีโรงงานผลิตกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ เช่น จังหวัดปทุมธานี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ส่งผลดีต่อการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ การบริหารต้นทุนโลจิสติกส์ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง

ด้านผลงานงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 270.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122% จากที่มีกำไรสุทธิ 121.7 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากต้นทุนคงที่ลดลงจากการย้ายฐานการผลิตจากโรงงานระยองที่ปิดตัว ไปยังเตาที่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานเพิ่มขึ้นและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ