HoonSmart.com>>เอฟเฟกต์แรง! ลุ้นเปิดซื้อขายหุ้น MORE จันทร์นี้ (21 พ.ย.) หวั่นราคาดิ่งฟลอร์ที่สาม เหลือ 1 บาท ถึงจุดฟอสเซล ทำนักลงทุน-บล.ขาดทุนยับ หุ้นหลายตัวถูกลดเกรด ดิ้นหาเงินมาเติมหรือขายทิ้ง เตือนตลท.หามาตรการรับมือ ลูกค้าย้ายพอร์ตหาที่มั่นคง “ทุนเกาหลี”เร่ขายหุ้นบล.ดาโอ แฉบล.เอเชีย เวลท์ ฝืดหนัก NCR ติดลบ เหตุง่อนแง่นอยู่แล้ว ยังเปิดทางลูกค้าซื้อมอร์รีเทิร์น 300 ล้านบาท บริษัทมีเงินกองทุนแค่ 419 ล้านบาท “ชนะชัย ” CEO ลาออกแล้ว บริษัทระส่ำ กลัวไม่ได้เงินเดือนพ.ย.นี้ ร้อง”ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์”เติมสภาพคล่อง เผยมีภรรยาคนใหญ่โตร่วมถือหุ้นด้วย
แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์กล่าวว่า กรณีบริษัทมอร์ รีเทิร์น (MORE) ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะโบรกเกอร์ 11 แห่งที่ลูกค้าซื้อหุ้นมากถึง 4,000 ล้านบาทแล้วไม่จ่ายเงิน รวมถึงบล.เอเชียเวลท์เท่านั้น บริษัทหลักทรัพย์ที่มีการให้สินเชื่อซื้อหุ้นก็จะได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะบริษัทที่ให้สินเชื่อซื้อหุ้นมอร์ฯวงเงินสูง ๆ หลังจากราคาหุ้นดิ่งฟลอร์ 2 วันติดต่อกันแล้ว ( 10-11 พ.ย. ) ปิดที่ 2.78 บาท หากวันที่ 21 พ.ย. ตลาดหลักทรัพย์ ปลดเครื่องหมาย SP เปิดให้มีการซื้อขายปกติ อาจจะมีโอกาสดิ่งฟลอร์ติดต่อเป็นวันที่สาม ราคาหุ้นลงมาอยู่ที่ 1 บาท เทียบกับวันที่ 9 พ.ย.ปิดที่ 2.78 บาท หายไป 1.78 บาท หรือร่วงลงไประมาณ 64% ถึงจุดที่โบรกเกอร์จะต้องบังคับขายหุ้นของลูกค้าหรือ ฟอสเซล ตามเกณฑ์ แต่ไม่แน่ใจว่าโบรกเกอร์จะขายหุ้นออกได้ทันหรือไม่
“ตลาดหลักทรัพย์ควรจะมีมาตรการมาดูแลก่อนที่จะพิจารณาเปิดการซื้อขายหุ้น MORE ตามปกติ หากนักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น พร้อมจะขายทิ้งทุกราคา นอกจากนี้หุ้น MORE เป็นตันเหตุหนึ่งทำให้โบรกเกอร์ตื่นตัวปิดจุดเสี่ยง เข้มงวดในการปล่อยมาร์จิ้นสำหรับหุ้นขนาดกลางและเล็กจำนวนมาก หุ้นบางตัวถูกเรียกเงินคืนจากลูกค้า รวมถึงการลดวงเงิน แม้ให้เวลาในการปรับพอร์ต แต่สถานการณ์นี้ คงไม่มีทางเลือกมากนัก อาจจะต้องขายหุ้นในพอร์ตออกมา ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของตลาด”
นอกจากนี้ ลูกค้ามีการแห่โยกย้ายพอร์ตหุ้นไปหาโบรกเกอร์ที่มีความมั่นคง หลังมีข่าวเรื่อง บล.เอเชียเวลท์ (AWS) ถูกระงับการทำธุรกรรมชั่วคราว เพราะไปดึงเงินของลูกค้าไปชำระค่าหุ้น MORE กับสำนักหักบัญชี รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์เริ่มหวั่นไหว
สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้ รายงานโดยอ้างอิงจากแหล่งข่าวการเงินว่า Daol Investment & Securities ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) ว่า ตัดสินใจขายหุ้นบล.ในไทยสัดส่วน 69.9% โดยอยู่ระหว่างการหาผู้ซื้อ คาดว่าจะได้รับเงิน 1 แสนล้านวอน หรือประมาณ 2,700 ล้านบาท โดยบริษัทไม่ได้มีปัญหาด้านสภาพคล่อง แต่เนื่องจากสถานการณ์ตลาดไม่ค่อยสู้ดีในระยะยาว จึงต้องการขายออกไป สำหรับบล.ดาโอ(ประเทศไทย) มีนักลงทุนสัญชาติเกาหลีถือหุ้น 70% และนักลงทุนไทยถือหุ้น 30%
แหล่งข่าววงในบล.เอเชียเวลท์ (AWS) เปิดเผยว่า ตอนนี้บริษัทฯมีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ Net Capital Rule (NCR) ติดลบ หลังจากเปิดวงเงินให้ผู้ซื้อหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น(MORE) เพียงรายเดียว สูงถึง 300 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีเงินกองทุนประมาณ 400 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมใด ๆ ได้ เพราะจะต้องมีเงินสำรอง 1.5 เท่า เช่น จะทำธุรกรรม 300 ล้านบาท ต้องสำรอง 1.5 เท่า ซึ่งเท่ากับจะต้องมีเงิน 500 ล้านบาท สถานการณ์บริษัทตอนนี้ไม่มีสภาพคล่อง หากถึงสัปดาห์นี้ยังไม่มีเงินเข้ามาเพิ่ม พนักงานอาจจะไม่ได้รับเงินเดือนในเดือนพ.ย.นี้ด้วย ซึ่งมีโอกาสสูง แม้บริษัทจะปิดกิจการในอนาคต ต้องรับผิดชอบ จ่ายค่าแรงงานให้พนักงาน ด้วย
“ตอนนี้รอเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กลุ่มบริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ (TRU) จะใส่เงินเข้ามาเพิ่มหรือไม่ เพราะทางบริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ (NCL) ที่สนใจซื้อ ได้ยกเลิกการลงทุนไปแล้ว ใช่ เราขาดสภาพคล่อง แต่การที่ไปดึงเงินลูกค้านำออกไปใช้ ทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อถือแล้ว ตอนนี้ต้องหาคนผิด ใครเป็นคนอนุมัติให้มีการดึงเงินลูกค้าออกไปใช้ และต้องหาทางในการเติมสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ”
ทั้งนี้ หลังจากที่ก.ล.ต.ได้สั่งระงับการดำเนินธุรกิจของบริษัทชั่วคราว พนักงานบางส่วนยังมาทำงาน แต่บางส่วนหยุดทำงานไปเลย ซึ่งไม่คิดว่าผู้บริหารจะแก้ปัญหาเรื่อง MORE ด้วยวิธีการแบบนี้ เงินของลูกค้า ตามเกณฑ์ก.ล.ต. บริษัทไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับสินทรัพย์ของลูกค้าได้อยู่แล้ว
ด้านนาย ชนะชัย จุลจิราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เอเชียเวลท์ ได้ยื่นใบลาออกแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2565
สำหรับบล.เอเชียเวลท์ เกิดจากคนในวงการบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียนร่วมลงทุน โดยนายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการก.ล.ต.ในปัจจุบัน เคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการ ส่วนผู้ถือหุุ้น AWS มีตระกูล “เผอิญโชค” เจ้าของบริษัทไทยรุ่งยูเนียนคาร์ ถือหุ้นทั้งสิ้น 59.5% และยังมีตัวแทนของผู้ถือหุ้นเดิมถือหุ้นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึง นางธิดา พรภาวนา (ภรรยานายพิชิต ) ถือหุ้น 1.25%
ด้านฐานะการเงินของ AWS เมื่อปี 2562 มีทุนเรียกชำระแล้ว 1,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2563 มีการเพิ่มทุน 50 ล้านบาทโดยกลุ่ม”เผอิญโชค” ทำให้มีทุนชำระแล้ว 1,050 ล้านบาท แต่ในระหว่างปี 2565 มีการลดทุนจำนวน 605,096,200 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสมที่มีอยู่จำนวน 614,684,791 บาท ขณะที่ผลดำเนินงานยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง หลังลดทุนแล้ว คงมีผลขาดทุนสะสมจำนวน 25.57 ล้านบาท ส่วนของเจ้าของเหลือจำนวน 419.33 ล้านบาท จากทุนเรียกชำระแล้ว 444.93 ล้านบาท
อ่านข่าว
เชือดบล.เอเชียเวลท์สังเวย MORE สั่งระงับทำธุรกิจ พบขโมยเงินลูกค้า