KJL ผู้นำตู้ไฟ-สวิตซ์บอร์ด แบรนด์แข็งแกร่ง-แข่งขันยาก

HoonSmart.com>>”กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค” (KJL) เบอร์ 1 ตู้ไฟ-รางไฟ เจ้าของแบรนด์ KJL ชูจุดแข็งโมเดลธุรกิจไม่แข่งกับใคร  สร้างสนามเอง ทำตัวเองให้พร้อม สั่งเช้า-ได้บ่าย ส่งเข้าถึงไซด์งาน  ทำให้แข่งขันยาก

ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ สุภาษิตนี้ ใช้ได้ดีกับธุรกิจและการบริหารของครอบครัว “ สุจิวโรดม” ซึ่ง “การุณย์-กันยา” สามี-ภรรยา ผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค ( KJL ) ยึดหลักการทำงาน ความซื่อสัตย์-ซื่อตรงต่อลูกค้า คู่ค้า ตัวแทนจำหน่ายตู้ไฟ-รางไฟ ของ KJL  ที่มีทั่วประเทศกว่า 400-500  ราย ถ่ายทอดมาถึงลูก ๆ ทั้ง 4 คน ที่ยึดมั่นในหลักการ มากว่า 26 ปี

“กิจเจริญ ฯ “ เป็นผู้ผลิตตู้ไฟ รางไฟ ให้กับผู้รับเหมาไฟฟ้า หากดูจำนวนชิ้นงานตู้ไฟ 3,000 ใบ/วัน หรือ  20 ล้านชิ้น/ปี , การใช้เหล็กเกือบ 20,000 ตัน/ปี หรือ 1,500 ตัน/เดือน  ถือเป็นผู้ผลิตเบอร์ 1 ของไทย ที่สั่งเช้า ได้บ่าย สต็อกสินค้าพร้อมส่ง แบรนด์แข็งแรง ต้องตู้ไฟ KJL

กำเนิดธุรกิจ KJL

นายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KJL หนึ่งในทายาทผู้ถือหุ้นใหญ่ เล่าว่า บริษัท กิจเจริญ ฯ  เป็นผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์กว่า 30 ปี ในอุตสาหกรรมการแปรรูปขึ้นรูปแผ่นโลหะ และผลิตตู้ไฟ สวิตช์บอร์ด รางเดินสายไฟ ทั้งสำหรับบ้านเรือนจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

จุดเริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ เมื่อปี 2531  จากห้องแถวย่านบางบอน เติบโตขึ้นต่อเนื่องตามการขยายเมือง สู่การขยายกิจการ โรงงาน  KJL ที่ใหญ่ขึ้น นำเข้าเครื่องจักร แบรนด์ AMADA จากญี่ปุ่น เริ่มจาก 1 เครื่อง ปัจจุบัน KJL มีเครื่องจักรสำหรับตัด พับ ขึ้นรูปแผ่นโลหะรวมกว่า 50 เครื่อง อัตราการใช้กำลังการผลิต 70-80% บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานอีกหนึ่งแห่งในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานเดิม โดยมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นปีละ 10-15%

 

แบรนด์ KJL สร้างรายได้หลัก 70%

ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท คือ ตู้ไฟ แบรนด์ KJL ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้ 60-70% จากการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ  400-500 ราย   อีก 20% รับจ้างผลิต และ 5-10%  มาจากโลหะแผ่นแปรรูปอื่นๆ อาทิ งานเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือทางการแพทย์ ตู้ KIOSK  ตู้จำหน่ายสินค้า ตู้ EV Charger ตู้ Controller  และผลิตภัณฑ์รางไฟ งานตู้ Wiring เป็นสัดส่วนรายได้ 1-2% ผลประกอบการมีอัตรากำไรที่ดี มีอัตรากำไรขั้นต้น 25-28% อัตรากำไรสุทธิมากกว่า 11-13% มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

พันธมิตรระดับโลก

การรับจ้างผลิต หรือ OEM ตามความต้องการของลูกค้า เป็นสัดส่วนรายได้ 20% ของรายได้รวม  ซึ่งลูกค้า OEM ที่เป็นพันธมิตรธุรกิจระดับโลกที่สำคัญหลัก คือ บริษัท Schneider Electric (ชไนเดอร์ อิเลคทริค)  จากฝรั่งเศส  ให้ Certificated Licensed partner เพื่อผลิตและจำหน่ายตู้ไฟแบรนด์ Schneider รุ่น Prisma  โดยชไนเดอร์ เป็นคู่ค้าเอ็กซ์คูลซีฟ สัญญา 4 ปี ซึ่งไม่มีความเสี่ยงการต่อสัญญา

ไม่เพียงแต่ชไนเดอร์ เท่านั้น KJL มีพันธมิตรอย่าง bticino ของอิตาลี , Amada,Jotun , Friulair , Gema หรือ AkzoNobel   ซึ่งการมีพันธมิตรธุรกิจระดับโลก  เป็นเครื่องการันตีคุณภาพและความน่าเชื่อถือของ KJL ได้เป็นอย่างดี

โมเดลการสร้างสนาม เสริมธุรกิจ 

ซีอีโอ กล่าวว่า จุดแข็งของ KJL คือ การสร้างโมเดลธุรกิจของตัวเอง เป็นเสมือนการสร้างสนาม ที่มีสินค้าพร้อมส่ง สั่งเช้า ได้บ่าย ส่งตรงเข้าไซด์งานลูกค้า มีแบรนด์ KJL ที่แข็งแกร่ง ผลิตและขึ้นรูปชิ้นเดียว จำนวนน้อย ตามความต้องการลูกค้า  ความรวดเร็วของงานด่วน หรือด่วนมาก ซึ่งความเร็วถือว่าสำคัญมากกับไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของโครงการ ดังนั้นกำลังการผลิต ก็มีส่วนสำคัญ บริษัท ฯ มีความพร้อมดังกล่าว รองรับคำสั่งซื้อได้ตลอดเวลา โดยเพิ่มกำลังผลิตปีละ 15-20% รองรับการเติบโตของยอดขาย

ผลดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง

ผลดำเนินงานย้อนหลังที่ผ่านมา ปี 2562 – 2564 จะเห็นว่า KJL มีรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2562 รายได้ 754 ล้านบาท กำไรสุทธิ 19.49 ล้านบาท , ปี 2563 รายได้ 708 ล้านบาท กำไรสุทธิ 90.97 ล้านบาท และปี 2564 รายได้ 846 ล้านบาท กำไรสุทธิ 94.04 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือน /2565 รายได้ 503 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 65.79 ล้านบาท

เพิ่มทุนสร้างศูนย์นวัตกรรม KJL

ศูนย์นวัตกรรม KJL

เกษมสันต์ สุจิวโรดม เล่าว่า การเข้าตลาดหุ้น โดยเสนอขายหุ้น จำนวน 30 ล้านหุ้น  ราคาเสนอขาย 13.50 บาท มูลค่าการระดมทุนประมาณ 405 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์  ขยายกิจการรองรับการเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy ซึ่งบริษัทมีแผนใช้เงิน 200 ล้านบาท หรือ 40-50% ของการระดมทุน ก่อสร้างศูนย์นวัตกรรม KJL  (KJL Innovation Campus) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยศูนย์นวัตกรรมนี้จะมีพื้นที่ 3,500 ตารางเมตร ประกอบไปด้วย KJL Electrical Experience Hub & Showcase (โชว์รูม), R&D Center(ศูนย์วิจัยและพัฒนา),  KJL Metal Design Lab(ศูนย์ออกแบบสินค้า), และ Co-creation Workshop Space (พื้นที่สร้างสรรค์งานร่วมกับลูกค้าและทำเวิร์คชอป) เริ่มก่อสร้างปี 2566 และจะแล้วเสร็จในปี 2568

เงินส่วนที่เหลือใช้เพิ่มกำลังการผลิตอีก 10-15% จากปัจจุบัน 20 ล้านชิ้นต่อปี โดยการขยายโรงงานในเฟสแรกจะแล้วเสร็จในปี 2565  บริษัทจะติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงมลพิษจากการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าในองค์กรเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน คาดว่าจะดำเนินการเสร็จในปี 2566  บริษัทจะนำเงิน 50 ล้านบาทไปชำระคืนเงินกู้ในระยะสั้น (อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน D/E จะลดลงจาก 2 เท่าเหลือประมาณ 0.8-1.2 เท่าหลัง IPO) และส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

” การเข้าระดมทุนในตลาดเอ็ม เอ ไอ (mai) นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอนาคตให้เติบโตแบบก้าวกระโดด สู่ความเป็นเลิศในอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานโดยใช้หลัก FIST ประกอบด้วย FLEXIBLE,  INNOVATION,  SPEED และ TRUSTWORTHY เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งมอบสินค้าที่ได้มาตรฐานและคุณภาพด้วยรวดเร็วและตรงเวลา ตลอดจนการสต๊อกสินค้าไว้สำหรับลูกค้าเพื่อเตรียมพร้อมส่งทันทีในวันเดียวกัน ทำให้ KJL ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าด้วยดีตลอดมา ในฐานะผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้าเพื่ออนาคต” นายเกษมสันต์ กล่าวในที่สุด