KJL ขายหุ้นเกลี้ยง 30 ล้านหุ้น เทรดตลาด mai 22 พ.ย.นี้

HoonSmart.com>>KJL สุดฮอต! ปิดจองซื้อ IPO เกลี้ยง 30 ล้านหุ้น ตอกย้ำ ผู้นำ “นวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่ออนาคต”  ซื้อขายในตลาด mai 22 พ.ย.นี้

เกษมสันต์ สุจิวโรดม

นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาการเงินและแกนนำจำหน่ายหุ้น บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค  ( KJL )   เปิดเผยว่า หุ้นเพิ่มทุน KJL ซึ่งเสนอขายประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ปิดจองซื้อ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 30 ล้านหุ้น ขายหมดเกลี้ยงตั้งแต่วันแรก สะท้อนความเชื่อมั่นปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท ศักยภาพการเติบโต และโอกาสในอนาคต คาดเข้าซื้อขในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ วันที่ 22 พ.ย.นี้

สำหรับ  KJL เป็นผู้นำนวัตกรรมผลิตตู้ไฟ สวิตช์บอร์ด รางเดินสายไฟ และงานโลหะแผ่นแปรรูปสั่งผลิตพิเศษ Sheet Metal Works ด้วยเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น แบบครบวงจร แบรนด์สินค้า KJL และสินค้าสั่งผลิต

ผลประกอบการบริษัท ปี 2562-2564 มีรายได้รวม 753.67 ล้านบาท 708.18 ล้านบาท และ 845.78 ล้านบาทตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 5.93 ต่อปี กำไรสุทธิอยู่ที่ 19.49 ล้านบาท 90.97 ล้านบาท และ 94.04 ล้านบาท ตามลำดับ

งวด  6 เดือนแรกปี 2565 มีรายได้รวม 502.89 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 65.79 ล้าน สูงขึ้นจากปี 2564 ที่มีรายได้รวม 424.92 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 47.87 ล้านบาท

คาดการณ์แนวโน้มปี 2565 จะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี

“ เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน สนับสนุนให้ KJL สามารถขยายกำลังการผลิตรับออเดอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมและใหม่ พร้อมมองว่า KJL มีแนวโน้มเติบโตแบบ Growth Stock สอดรับกับการฟื้นตัวในภาพรวมของเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศขณะนี้ ” นายพายุพัดกล่าว

นายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KJL กล่าวว่า นักลงทุนเชื่อมั่นศักยภาพและแผนการลงทุนที่มีความชัดเจนของบริษัทฯ ทำให้ความต้องการซื้อหุ้นมีจำนนมาก  โดยเงินระดมทุน 384.97 ล้านบาท (หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) นำไปใช้ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต ลงทุนก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักร จำนวน 80 ล้านบาท, ลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) จำนวน 25 ล้านบาท, ลงทุนศูนย์นวัตกรรม KJL (KJL Innovation Campus) จำนวน 200 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ จำนวน 29.97 ล้านบาท และชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น จำนวน 50 ล้านบาท

ซีอีโอ กล่าวถึง กลยุทธ์การเติบโตหลังการลงทุน IPO จากการเพิ่มเป้าหมายการผลิตเครื่องจักรต่าง ๆ จะทำให้ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า กำลังการผลิตของ KJL จะเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 15-20 % รวมถึงการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าที่จะเข้ามาใช้ทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้สินค้าของ KJL เติบโตไปพร้อมกับความต้องในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง KJL กับผู้ประกอบการ พันธมิตร ตลอดจนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมออกแบบ การดีไซน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในมิติต่าง ๆ ไปด้วยกันและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่รับเทรนด์โลกในอนาคต ภายในศูนย์นวัตกรรม KJL (KJL Innovation Campus) ที่จะสร้างเสร็จภายใน ปี 2568 นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ KJL เติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ

“การเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ครั้งนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญในการขยายธุรกิจให้แข็งแกร่ง ตลอดจนสร้าง Brand Awareness ผลิตภัณฑ์และบริษัท ให้เป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างพันธมิตรเพิ่มเติม และต่อยอดธุรกิจให้สามารถคว้าโอกาสใหม่ ๆ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ใช้มากขึ้น เพื่อการเติบโตของ KJL อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในฐานะ “ผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่ออนาคตคุณ” เชื่อมั่นว่า จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในการเข้าซื้อขายในตลาด mai วันแรก” นายเกษมสันต์ กล่าว