เงินเฟ้อต.ค.ชะลอต่อ ลุ้น ธปท.เบรคขึ้นดอกเบี้ย-ตปท.ซื้อบอนด์ 3.2 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>> อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 5.98% ชะลอตัวเดือนที่สอง ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเติบโต 6% ส่งผลให้เฉลี่ย 10 เดือนปีนี้ เพิ่มขึ้น 6.15% บล.ทรีนีตี้คาดธปท.อาจจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย 30 พ.ย. กลยุทธ์ถือหุ้นต่อไป ด้านบล.กสิกรไทยคาดดอกเบี้ยขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 0.25%  บล.หยวนต้ามองหนุนเงินทุนไหลเข้า ดีต่อ SCB, CPALL, BJC, TIDLOR, TACC, ICHI, KISS ต่างชาติแห่ซื้อบอนด์กว่า 3 หมื่นล้านบาท 

นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนต.ค.2565 อยู่ที่ 108.06 เพิ่มขึ้น 5.98% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.33% จากเดือน ก.ย.2565 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 6.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  ทั้งนี้ตลาดคาดว่าเงินเฟ้อเดือนต.ค.จะเติบโต 6%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนต.ค. อยู่ที่ 103.78 เพิ่มขึ้น 3.17% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.05% จากเดือนก.ย.65 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“อัตราเงินเฟ้อในเดือนต.ค.นี้ เพิ่มขึ้น 5.98% เป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน และสนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง” นายพูนพงษ์ระบุ

บล.ทรีนีตี้คาดตัวเลขเงินเฟ้อต.ค.ออกมาไม่ได้สูงกว่าตลาดคาดอย่างมีนัยสำคัญที่  6.00% และ Core CPI ขยายตัว 3.2% YoY เชื่อว่าว่ากนง.จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี วันที่ 30 พ.ย.นี้ หลังจากมีการขึ้นดอกเบี้ยติดกันมาแล้ว 2 ครั้ง

แนวโน้มตลาดในสัปดาห์นี้ทรงตัวได้หลังยังคงเห็นสัญญาณเงินทุนไหลเข้าเชิงบวก โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิไปถึงเกือบ 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนใหญ่เพื่อเก็งกําไรค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าอย่างสําคัญในช่วงนี้ โดยถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา Turning point ของรอบนี้

“ในเชิงกลยุทธ์แนะนำถือครองหุ้นส่วนที่เหลือ หลังจาก Lock profit ไปแล้วครึ่งหนึ่งที่ระดับดัชนี 1630 จุด”บล.ทรีนีตี้

บล.กสิกรไทย คาดว่าธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปและคราวละ 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปี2565 อยู่ที่ 1.25%, 2566 อยู่ที่ 1.75-2% หลังเงินเฟ้อทั่วไปเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 5.98% จากอาหารสด (+1.4% MoM) ส่วนราคาพลังงานเริ่มทรงตัว (+0.14% MoM) ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ (+3.17% YoY/+0.05% MoM) (ต่ำกว่าตลาดคาดไว้ที่ 3.2%)

ธนาคารกรุงไทยเผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. ชะลอลงมาสู่ระดับ 5.98% จากหมวดพลังงานที่ชะลอลงจากผลของฐานในปีก่อนที่ปรับสูงขึ้น และจากราคาอาหารสดที่ชะลอลงตามราคาเนื้อสัตว์และผลไม้ ประกอบกับผลของฐานปีก่อนที่เร่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเทียบกับเดือนก่อน พบว่า เร่งขึ้น 0.33% (MoM) ตามราคาอาหารสดและราคาน้ำมันขายปลีก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.17% (YoY) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยจากราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

ทั้งนี้แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงและได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่คาด กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% ไปจนถึงกลางปี 2566 อีกทั้งเป็นการเพิ่ม policy space เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่อาจเผชิญภาวะถดถอยในระยะข้างหน้า

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คงมุมมองเดิมว่าเงินเฟ้อไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และเริ่มชะลอตัวลงหลังจากนี้ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานแม้ยังเห็นการปรับตัวขึ้น แต่คาดว่าเดือนพ.ย.จะชะลอตัวลงตามเงินเฟ้อทั่วไป ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่เริ่มสูงขึ้น รวมถึงราคาสินค้าหลายชนิดเริ่มทรงตัว

เงินเฟ้อที่อยู่ในทิศทางชะลอตัวลง เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ และเป็นบวกต่อกำลังซื้อภาคครัวเรือน ถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อ SCB, CPALL, BJC, TIDLOR, TACC, ICHI, KISS เป็นต้น

ด้านตลาดหุ้นปิดที่ 1,623.57 จุด ลดลง 2.75  จุดหรือ -0.17% มูลค่าซื้อขาย 67,394.69 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิ  2,365.80 ล้านบาท และซื้อตราสารหนี้มากถึง 3.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดที่ 37.35 บาท/ดอลลาร์