Hoonsmart.com>>“กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค” หรือ KJL ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมขึ้นรูปแผ่นโลหะ และผลิตตู้ไฟ สวิตช์บอร์ด รางเดินสายไฟ พร้อมเปิดขายหุ้น IPO ในวันที่ 9-11 พ.ย.นี้ จำนวน 30 ล้านหุ้น มีบล.หยวนต้าเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย คาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในเดือนพ.ย.นี้ เผยเงินระดมทุน 40-50% ใช้ในการลงทุนก่อสร้างศูนย์นวัตกรรม (KJL Innovation Campus) บนพื้นที่กว่า 3,500 ตรม. ใช้เงินลงทุนเกือบ 200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.หยวนต้า เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 – 11 พ.ย.นี้จะเปิดให้จองซื้อหุ้น IPO ของ KJL จำนวน 30 ล้านหุ้น ส่วนการกำหนดราคาขายหุ้นอยู่ระหว่างการพิจารณา และคาดว่าจะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในภายในเดือนนี้ ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม โดยใช้ชื่อหลักทรัพย์ว่า KJL
นายพายุพัดกล่าวว่า นอกจากบริษัทจะเป็นผู้นำในการผลิตตู้ไฟ รางไฟ ทั้งสำหรับบ้านเรือนจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งภายใต้แบรนด์ KJL และรับจ้างผลิต OEM แล้ว KJL ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปี ในอุตสาหกรรมการขึ้นรูปแผ่นโลหะ ซึ่งสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือแพทย์ ตู้ EV Charger ตู้ Controller และผลประกอบการก็มีอัตรากำไรที่ดี มีอัตรากำไรขั้นต้น 25% อัตรากำไรสุทธิมากกว่า 10% มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานของ KJL
ปี 2562 2563 2564 2565(6 เดือน)
รายได้ 754 708 846 503
กำไรสุทธิ 19.49 90.97 94.04 65.79
“KJL เป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโต และเป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์อนาคต โดยทีมผู้บริหารและทีมงานที่มากประสบการณ์และคร่ำหวอดในธุรกิจมานานเกือบ 30 ปี ตลอดจนพันธมิตรระดับโลกอย่าง Schneider Electric ให้การยอมรับ ทำให้มั่นใจว่าการเสนอขายหุ้น IPO ของ KJL จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน รวมถึงแผนการลงทุนที่ชัดเจนในการเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืน” นายพายุพัด กล่าว
ทั้งนี้ บล.หยวนต้า เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย รวม 3 ราย ประกอบด้วย บล.เอเซียพลัส, บล.เคจีไอ และบล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง
นายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KJL กล่าวว่า 40-50% ของเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จะใช้ลงทุนในการก่อสร้างศูนย์นวัตกรรม KJL (KJL Innovation Campus) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยศูนย์นวัตกรรมนี้จะมีพื้นที่ 3,500 ตารางเมตร ประกอบไปด้วย KJL Electrical Experience Hub & Showcase (โชว์รูม), R&D Center(ศูนย์วิจัยและพัฒนา), KJL Metal Design Lab(ศูนย์ออกแบบสินค้า), และ Co-creation Workshop Space (พื้นที่สร้างสรรค์งานร่วมกับลูกค้าและทำเวิร์คชอป) มูลค่าลงทุนเกือบ 200 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างปีหน้า และจะแล้วเสร็จในปี 2568
เงินส่วนที่เหลือจะใช้ในการเพิ่มกำลังการผลิตอีก 10-15% จากปัจจุบัน 20 ล้านชิ้นต่อปี (มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 70-75%)โดยการขยายโรงงานในเฟสแรกจะแล้วเสร็จในปีนี้ นอกจากนี้บริษัทจะติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop)เพื่อใช้เองในโรงงานของบริษัท คาดว่าจะดำเนินการเสร็จในปีหน้า นอกจากนี้ จะนำไปชำระคืนเงินกู้ในระยะสั้น (อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน D/E จะลดลงจาก 2 เท่าเหลือประมาณ 1 เท่าหลัง IPO) และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
นายเกษมสันต์กล่าวว่า การเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จ และความภาคภูมิใจในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศในอุตสาหกรรม ภายใต้ค่านิยมองค์กร (Core Value) ซึ่งประกอบด้วย FLEXIBLE, INNOVATION, SPEED และ TRUSTWORTHY เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายและมีความแตกต่างในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย การส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและคุณภาพที่รวดเร็วและตรงเวลา จึงได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้ามาเกือบ 3 ทศวรรษ
“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จะช่วยให้ KJL มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น สามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น สอดรับกับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกระแสการใช้พลังงานสะอาดทั่วโลกที่กำลังเติบโต นับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการสร้างรายได้และทำกำไรในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ ผลักดันให้ผลการดำเนินงานของ KJL เติบโตอย่างก้าวกระโดด รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy ในฐานะผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่ออนาคตคุณ” นายเกษมสันต์ กล่าว
#KJL #YUANTA #mai #ipo