HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเครื่องชี้กิจกรรมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยปี 65 สะท้อนภาพการฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ทั่วถึง แม้การเปิดโครงการใหม่กลับมาเติบโตเร่งขึ้น แต่มาจากปัจจัยเฉพาะทางธุรกิจ ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยใหม่หรือจากนิติบุคคลยังอ่อนแรง ประเมินปี 66 ปัจจัยหนุนเบาบาง หลังธปื.ไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV เป็นแรงกดดันการเติบโต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2566 ปัจจัยหนุนเริ่มเบาบาง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV (สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565) โดยตลาดต้องติดตามว่าทางการจะต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมในการซื้อที่อยู่อาศัยหรือไม่ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง กำลังซื้อยังเปราะบาง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น การแข่งขันในธุรกิจที่สูงและจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมสูง ล้วนยังเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมการซื้อและการลงทุนที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ในปี 2566 การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจจะลดลงเป็น 8.9-9.6 หมื่นหน่วย หรือหดตัว 6.3% ถึง ขยายตัว 1.1% เทียบกับที่เร่งตัวขึ้นในปี 2565 โดยการเปิดตัวคอนโดมิเนียมน่าจะชะลอลงจากที่เปิดตัวจำนวนมากในปี 2565 พื้นที่โครงการใหม่จะเน้นไปยังพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง และพื้นที่ชั้นนอกต่อขยายจังหวัดปริมณฑล เนื่องจากราคาที่ดินในพื้นที่กทม.ชั้นในปรับสูงขึ้น บวกกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าขยายไปยังพื้นที่รอบนอกกทม.
พร้อมกันนี้มองว่า ในปี 2566 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (รวมนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา) น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.75-1.82 แสนหน่วย หรือหดตัว 2.8% ถึงขยายตัว 1.1% เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัว 7.5% ในปี 2565
ศูนย์วิจักสิกรไทย เห็นว่า ในระยะข้างหน้าต่อจากนี้ ปัจจัยแวดล้อมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยู่อาศัยยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ผู้ประกอบการคงต้องเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด โดยตัวแปรสำคัญของความสำเร็จของโครงการที่จะเกิดขึ้นนอกจากจะอยู่ที่ตัวสินค้าและทำเลแล้ว ยังต้องอาศัยศักยภาพเฉพาะตัวในด้านการบริหารจัดการในหลายๆ มิติ เช่น การบริหารจัดการด้านต้นทุน ในภาวะที่ต้นทุนมีทิศทางปรับสูงขึ้น การบริหารต้นทุนให้ต่ำกว่าย่อมหมายถึงการตั้งราคาได้ต่ำกว่าคู่แข่ง หรือมีมาร์จินกำไรที่สูงกว่าคู่แข่ง และการบริหารงานก่อสร้าง โดยลดระยะเวลาในการก่อสร้าง แต่ยังคงคุณภาพของงานก่อสร้าง เพื่อที่จะสามารถควบคุมปริมาณซัพพลายให้เป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบกับการสร้างที่อยู่อาศัยให้เสร็จเร็วจะสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้บริโภคได้เช่นกัน เป็นต้น
นอกจากนี้ การศึกษาตลาดของพื้นที่ที่จะลงทุนมีความสำคัญ เพื่อนำมาวางแผนกลยุทธ์ทางตลาด เช่น กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ราคา ขนาด รูปแบบที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ ให้สอดคล้องไปกับความต้องการของผู้ซื้อและโจทย์ความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในพื้นที่เป้าหมาย