KBANK กำไร Q3/65 โตแตะ 10,574 ลบ. หนุน 9 เดือนเพิ่มขึ้น 15.73%

HoonSmart.com>> “ธนาคารกสิกรไทย” เปิดกำไรไตรมาส 3/65 จำนวน 10,574 ล้านบาท เติบโต 22.52% จากงวดเดียวกันของปีก่อน หนุน 9 เดือนกำไร 32,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.73% กวาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 8,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.32% สินเชื่อเติบโต ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงเล็กน้อย ประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 10,573.98 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 4.29 บาท เพิ่มขึ้น 22.52% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 8,630.61 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.49 บาท

ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2565 กำไรสุทธิ 32,578.69 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 13.43 บาท เพิ่มขึ้น 15.73% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 28,151.55 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 11.59 บาท

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2565 เปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2565 จำนวน 10,574 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 220 ล้านบาท หรือ 2.04% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,076 ล้านบาท หรือ 3.36% ส่วนใหญ่จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อนอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 852 ล้านบาท หรือ 8.97% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง ในขณะที่การปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจำนวน 181 ล้านบาท หรือ 1.00% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ และค่าใช้จ่ายพนักงาน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 43.73% รวมทั้งธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน

ส่วนผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 32,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 4,428 ล้านบาท หรือ 15.73% หลัก ๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 8,261 ล้านบาท หรือ 9.32% จากรายได้ดอกเบี้ย เงินให้สินเชื่อซึ่งยังคงเป็นไปตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.26%

ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 5,228 ล้านบาท หรือ 16.22% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ตามภาวะตลาดของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นการลงทุนตามธุรกิจปกติของบริษัทย่อย และการลดลงของรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,145 ล้านบาท หรือ 6.22% หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ทำร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ลดลงเพียงเล็กน้อยจากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยยังเป็นการตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงตามหลักความระมัดระวังที่ได้พิจารณาปัจจัยเชิงเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยจะยังคงประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของสินเชื่อใหม่ตามตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร รวมทั้งความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ