3 บลจ.แนะทยอยเก็บ “หุ้นเวียดนาม” ร่วงแรง มองพื้นฐานแกร่ง กำไรบจ.เติบโต

HoonSmart.com>> “3 บลจ.” คงมุมมอง “บวก” ตลาดหุ้นเวียดนาม ปัจจัยพื้นฐานแกร่ง กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโต ชี้ราคาร่วงแรงรอบเกือบ 10 ปี เหตุนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินด่องอ่อนค่า สภาพคล่องซื้อขาย ข่าวจับกุมบิ๊กบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ทุจริต ด้าน “บลจ.กสิกรไทย” แนะจังหวะทยอยสะสม สำหรับจัดพอร์ตลงทุน 5-10% ขณะที่ “บลจ.กรุงศรี” มองแรงขาย Oversold หาจังหวะเข้าซื้อ ฟาก MFC แนะถือลงทุนต่อ ส่วนผู้ที่สนใจแนะทยอยลงทุน

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย (KAsset) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นเวียดนาม (VNI Index) ปรับตัวลดลงกว่า 8.5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลักๆ มาจากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ค่าเงินเวียดนามด่องที่อ่อนค่าในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค อัตราดอกเบี้ย Interbank ปรับตัวสูงขึ้นสะท้อนสภาพคล่องที่ลดลง อีกทั้งยังมีข่าวการจับกุมประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ Van Thinh Phat Group ข้อหาทุจริตหุ้นกู้ (เหตุการณ์เกิดขึ้นปี 2018-2019)

ตลอดจนมีข่าวลือว่ามีธนาคารพาณิชย์เอกชนรายใหญ่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดแรงขายจากนักลงทุนรายย่อย ซึ่งมีการใช้ Margin Loan ถูก Force Sell อย่างต่อเนื่อง (นักลงทุนรายย่อยที่ใช้บัญชี Margin ซึ่งเป็นบัญชีการกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นเวียดนาม ถูกบังคับขายจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรง) ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมา VNI Index ปรับตัวลงกว่า 8.5%

อย่างไรก็ตามสินทรัพย์ที่กองเข้าลงทุน เป็นหุ้นพื้นฐานดี ทำให้ไม่มีปัจจัยที่น่ากังวลในการดำเนินงาน ซึ่งทีมผู้จัดการกองทุนมองว่าหุ้น Top Holding ที่ทางกองทุนถือครองเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี มีความสามารถในการแข่งขันสูง ตลอดจนมีความสามารถในการดำเนินงานที่โดดเด่น ทำให้ไม่มีปัจจัยที่น่ากังวลในการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นอาจจะได้รับผลกระทบเชิงลบระยะสั้นจากความกังวลในภาพรวมของตลาดหุ้นเวียดนาม

ผู้จัดการกองทุนมองในระยะสั้น มีมุมมองระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้นักลงทุนรายย่อยค่อนข้างให้ความสำคัญกับข่าวเชิงลบทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นหลักส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงขึ้น

ส่วนระยะกลางและยาว ยังคงมุมมองเชิงบวกจากปัจจัยพื้นฐานของประเทศที่ยังแข็งแกร่ง ทั้ง GDP FDI การส่งออก การบริโภคในประเทศ ขณะที่อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนยังอยู่ในระดับสูง ที่ +24.1% ปีนี้ และ 16.8% ในปีหน้า โดยปัจจุบัน VNI ซื้อขายที่ PER 9.7 เท่าปีนี้ และ 8.2 เท่าปีหน้า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ PER 13.4 เท่า​​

กองทุนหุ้นเวียดนามแนะนำ ได้แก่ K-VIETNAM, K-VIETNAM-RMF

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารกลางเวียดนามมีแนวโน้มจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.5-1% และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อาจจะยังมีทิศทางแข็งค่าตามการปรับนโยบายทางการเงินของ Fed จะยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นเวียดนามในระยะสั้น จึงปรับเป้าปลายปีนี้ลงมาที่ 1,300 จุด (เป้าเดิม 1,400 จุด)

บลจ.กสิกรไทย ยังคงมุมมองบวกต่อการลงทุนในหุ้นเวียดนาม (Positive) โดยหากดูจากปัจจัยภายในประเทศเวียดนามมีความน่าสนใจทั้งแง่เศรษฐกิจที่ GDP ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และกำไรบริษัทจดทะเบียนยังเติบโตได้ในระดับสูง จำนวนประชากรวัยแรงงานมีสัดส่วนสูงที่สุดในอาเซียน เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่จัดการได้

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นเวียดนามถือว่ามีความผันผวนสูงเนื่องจากมีสัดส่วนหลักเป็นนักลงทุนรายย่อย จึงไม่แนะนำให้จับจังหวะการลงทุน แต่มุ่งเน้นไปที่การจัดพอร์ตและกระจายการลงทุน

ราคาที่ย่อลงไปมาก เป็นโอกาสทยอยสะสม โดยแนะนำให้มีหุ้นเวียดนามอยู่ในพอร์ตลงทุนประมาณ 5-10% ของสัดส่วนพอร์ตหุ้น ขึ้นอยู่กับความสามารถรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน ทั้งนี้ การลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามต้องทนความผันผวนระยะสั้นให้ได้ แนะนำให้ลงทุนยาว 3-5 ปี"บลจ.กสิกรไทย แนะนำ

ด้านบลจ.กรุงศรี ตลาดหุ้นเวียดนามร่วงลงแรงกว่า 6-7% กังวลค่าเงินดองทอ่อนค่า หลังธนาคารพาณิชย์เวียดนามบางแห่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นไปเกือบ 9% จนมีแรงขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้เกิดการขึ้น Margin Call (สถานการณ์ที่บัญชีซื้อขายหุ้นของผู้ลงทุนมีมูลค่ารวมต่ำกว่าระดับที่กำหนด และเตือนให้ผู้ลงทุนต้องฝากเงินเพิ่ม หรือปิดทุกออเดอร์ให้หมด) เพราะตลาดหุ้นเวียดนามมีสภาพคล่องต่ำ

อย่างไรก็ตามด้วยปัจจัยพื้นฐานของเวียดนามที่แข็งแกร่ง และระดับราคาซื้อขายถูกที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ทำให้เวียดนามยังคงมีแรงดึงดูดอยู่อีกมากสำหรับนักลงทุน

ขณะที่มุมมองของผู้จัดการกองทุนต่อค่าเงินดอง (VND) แนวโน้มอ่อนค่าตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังถือเป็นสกุลเงินที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ยังดีอยู่ และเป็นสกุลเงินที่ยังอ่อนค่าน้อยสุดสกุลหนึ่งในเอเชีย

แม้ว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Reserve) ของเวียดนามจะลดลงจากระดับ 1.1 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐจากช่วงต้นปี มาอยู่ที่ 1.0 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐในเดือนมิ.ย. แต่ถือเป็นระดับที่สูงในรอบหลายปี (ในช่วงสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 6 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ) แม้เวียดนามจะมีดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ที่ขาดดุล แต่เวียดนามมีการเกินดุลการค้า (Trade Surplus) อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลงและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามอยู่ในระดับ 3% ซึ่งไม่ได้สูงมากนัก และไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันค่าเงิน

บลจ.กรุงศรี มองตลาดหุ้นเวียดนามยังสามารถเข้าลงทุนได้ เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งมาก ทั้งจาก GDP ในไตรมาส 3 ของปี 2565 ที่เติบโตมากถึง 13.7% เมื่อเทียบกับปี 2564 และอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ที่เติบโตได้ในระดับสูง (มากกว่า 15% ในปี 2565-2566)

ปัจจุบันดัชนี VN Index ซื้อขายที่ระดับ PE 9.7 เท่า ซึ่งเป็นระดับราคาซื้อขายที่ถูกที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ดัชนีเวียดนามที่ระดับ 1,000 จะเป็นแนวรับแนวต้านที่สำคัญ (หากผ่านขึ้นไปได้ ราคาของหุ้นนั้นก็จะวิ่งขึ้นต่อไปทดสอบแนวต้านถัดไป)

ตลาดหุ้นเวียดนามกำลังมีสภาวะขายมากเกินไป (Oversold) โดยมีค่า RSI หรือ Relative Strength Index (เครื่องมือที่บ่งบอกสัญญาณแนวโน้มขาขึ้น (bullish) และขาลง (bearish) ของราคาหุ้น) อยู่ที่ 20 ซึ่งเมื่อ RSI < 30 ราคาหุ้นจะถูกลง เนื่องจากมีสภาวะขายมากเกินไป (Oversold) นักลงทุนสามารถพิจารณาหาจังหวะในการเข้าซื้อได้"บลจ.กรุงศรี แนะนำ

ขณะที่บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) มองปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของเวียดนามยังมีการเติบโตที่สูง อีกทั้งตลาดหุ้นยังมีมูลค่าไม่แพง เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ (พิจารณาจาก Forward P/E) นอกจากนี้ การยกระดับเข้าสู่ MSCI Emerging Markets Index ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นประมาณปี 2567 จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามข้อควรระมัดระวัง ภาพใหญ่ของตลาดหุ้นเวียดนามยังอยู่ในแนวโน้มขาลง ประกอบกับเป็นตลาดหุ้นที่มีความผันผวนสูง เนื่องจากเป็น Frontier Market หรือ ตลาดหุ้นชายขอบที่เพิ่งพัฒนาได้ไม่นาน จึงมีความเสี่ยงเรื่องของสภาพคล่อง กฎเกณฑ์ และมาตรฐานทางการเงินต่าง ๆ

สำหรับผู้ที่ลงทุนอยู่แล้ว แนะนำให้ถือลงทุน และรอดูสถานการณ์ โดยคงน้ำหนักการลงทุนตามระดับความเสี่ยงและสัดส่วนที่ผู้ลงทุนสามารถรับได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ลงทุนและสนใจที่จะลงทุนแนะนำให้ทยอยลงทุนด้วยความระมัดระวัง"บลจ.เอ็มเอฟซี แนะนำ

สำหรับกองทุน MVIET เน้นลงทุนแบบผสมผสานในหุ้นเวียดนามที่มีขนาดตลาด (market capitalization) ทุกขนาดทั้ง ใหญ่ กลาง เล็ก และลงทุนหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น Real Estate, Bank, Technology ที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบัน GDP ในช่วงครึ่งปีแรกของเวียดนามยังขยายตัวที่ 6.42% YoY ใกล้เคียงกับกรอบเป้าหมายทั้งปีที่รัฐบาลเวียดนามกำหนดไว้ที่ 6.0%-6.5%

ขณะที่ผลตอบแทนกองทุนหุ้นเวียดนามตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึงปัจจุบัน ผลตอบแทนติดลบสูงสุด 37.79% และน้อยสุดติดลบ 17.99% ข้อมูล ณ 7 และ 10 ต.ค.2565 จากจำนวน 14 กองทุน ข้อมูลบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และย้อนหลัง 1 ปี มีผลตอบแทนแทนติดลบสูงสุด 35.18% และติดลบน้อยสุด 24.92% จากจำนวนกองทุน 8 กองทุน