กองทุนรวม 9 เดือน มูลค่าวูบ 5.75 แสนลบ. กว่า 10.71%

HoonSmart.com>> อุตสาหกรรมกองทุนรวม 9 เดือนปี 65 มูลค่าลดเหลือ 4.79 ล้านล้านบาท วูบกว่า 5.75 แสนล้านบาท หรือ 10.71% ส่วน “กองทุนต่างประเทศ” มูลค่าลดต่อเนื่องเหลือ 9 แสนล้านบาท โยกซบกองทุนมันนี่ มาร์เก็ต ด้าน “MFC” ชี้ไตรมาส 3/65 ตลาดลงทุนทั่วโลกส่วนใหญ่ลดลง ผันผวนหนัก ถูกกดดันจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด เศรษฐกิจชะลอตัวทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ฉุดหุ้น-ตราสารหนี้ทั่วโลกร่วง ชูตลาดหุ้นเอเชียน่าสนใจ ส่วนหุ้นไทย Q4/65คาดฟื้นตัวได้ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติหนุน

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) กองทุนรวมทั้งระบบ ในช่วง 9 เดือนแรก ณ วันที่ 30 ก.ย.2565 มีมูลค่ารวม 4,793,887 ล้านบาท ลดลง 575,037 ล้านบาท หรือ -10.71% จากสิ้นปี 2564 มีมูลค่า 5,368,924 ล้านบาท และลดลง 122,063 ล้านบาท หรือ -2.48% โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เกือบทั้งหมดมีมูลค่าทรัพย์สินลดลง มีเพียง 3 บลจ.ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ บลจ.เอไอเอ เพิ่มขึ้น 6,591 ล้านบาท หรือ 16.97% จากสิ้นปีก่อน มาอยู่ที่ 45,423 ล้านบาท บลจ.ฟิลลิปเพิ่มขึ้น 273 ล้านบาท หรือ 6.77% มาอยู่ที่ 4,033 ล้านบาทและบลจ.เอ็กซ์สปริง เพิ่มขึ้น 4.11 ล้านบาท หรือ 12.11% จากสิ้นปีก่อน มาอยู่ที่ 34 ล้านบาท

กองทุนที่มีการลงทุนในหุ้นมูลค่าทรัพย์สินลดลงมากถึง 269,808 ล้านบาท หรือ -14.68% จากสิ้นปี 2564 มีมูลค่า 1,810,753 ล้านบาท ลดลงเหลือ 1,544,945 ล้านบาท กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้มูลค่าลดลง 229,783 ล้านบาท หรือ -10.08% จากสิ้นปีที่ผ่านมามาอยู่ที่ 2,275,915 ล้านบาท ลดลงเหลือ 2,046,443 ล้านบาท ด้านกองทุนรวมผสมมูลค่าลดลง 65,405 ล้านบาท หรือ -16.31% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 400,990 ล้านบาท ลดเหลือ 335,584 ล้านบาท

ขณะที่แยกรายประเภทกองทุนรวมที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) มูลค่าลดลงต่อเนื่องและลดหนักถึง 329,045 ล้านบาท หรือ -26.65% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,234,518 ล้านบาท ลดลงเหลือ 905,473 ล้านบาท กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) มูลค่าเพิ่มขึ้น 58,053 ล้านบาท หรือ 21.45% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 270,690 ล้านบาท มาอยู่ที่ 328,743 ล้านบาท ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) มูลค่าเพิ่มขึ้น 62,339 ล้านบาท หรือ 23.03% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 270,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 333,029 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผยว่า สินทรัพย์การลงทุนทั่วโลกในไตรมาส 3/2565 ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงและค่อนข้างผันผวนจากปัจจัยกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มากกว่าที่คาด เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวลง ทั้งจากตัวเลข Composite PMI ของสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น

สำหรับมุมมองการลงทุนในไตรมาส 4/2565 เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอยู่ในรอบวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นที่เร็วที่สุด นับตั้งแต่ปี 2523 โดยในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ทำให้ MFC ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากเดิม “แนะนำลงทุน” เป็น “คงน้ำหนักการลงทุน”

ปัจจุบัน MFC แบ่งสถานการณ์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็น 3 กรณี ซึ่งให้น้ำหนักกรณี Base Case มากที่สุด ดัชนี S&P500 อยู่ที่ 3,400-4,200 จุด ขณะที่ Worst Case อยู่ที่ 2,700-3,400 จุด และ Best Case อยู่ที่ 4,200-4,500 จุด

นอกจากนี้มองตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียนเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีของดัชนี MSCI ASEAN ทำผลตอบแทนได้เหนือกว่าดัชนีหุ้นโลก MSCI ACWI อยู่ที่ประมาณ 12% สะท้อนความผันผวนค่อนข้างต่ำ ข้อมูล ณ 30 ก.ย.2565 ซึ่ง MFC ให้ “น้ำหนักการลงทุน” จากเดิม “ชะลอการลงทุน” ส่วนหุ้นไทยมองว่าจะฟื้นตัวได้ดีในไตรมาส 4/2565 จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ มองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับขึ้นต่อได้แต่คาดว่าจำกัด ขณะที่ผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนสหรัฐฯ ที่ 5-9% อยู่ในระดับน่าสนใจ MFC ให้คงน้ำหนัการลงทุนและรักษา Duration สั้น

ขณะที่มุมมองการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (REITs) มีปัจจัยกดดันการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอ จึงลดความน่าสนใจ แนะนำชะลอการลงทุน ส่วน REITs กลุ่มประเทศเอเชีย ให้คงน้ำหนักการลงทุน จากปัจจัยหนุน Yield spread กว้าง เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเอเชียฟื้นตัว

MFC แนะนำกองทุน MMM-PLUS, MBT-G, M-FOCUS, M-EDGE, MVIET, MHEALTH และ MRENEW