KTAM Focus : QT สุดขีดเดือนเดียวสู่ขิต

โดย..ณัฏฐะ มหัทธนา, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ประกาศซื้อพันธบัตรอายุยาว “มากเท่าที่จำเป็น” หลังบรรดากองทุนบำนาญโดน margin call เพราะขาดทุน mark-to-market อันเป็นผลจากยีลด์พันธบัตร UK พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงหลังรัฐบาลเผยแผนลดภาษีแบบไร้แหล่งรายได้ (unfunded tax cuts)

แบงก์ยุโรปแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในรายชื่อสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก (Global Systemically Important Banks: G-SIBs) จุดกระแสความวิตกหลังมีรายงานว่าอาจต้องเพิ่มทุน ฉุดราคาหุ้นลงต่ำประวัติการณ์ “มาตรวัดความเสี่ยงเครดิต” CDS spreads พุ่งทะลุระดับวิกฤตหนี้ยูโรโซนปี 2011 ขึ้นไปเทียบชั้น Global Financial Crisis

ญี่ปุ่นทุ่มเฉียด $2 หมื่นล้านป้องค่าเงิน ดึงเยนขึ้นจากระดับอ่อนสุดใน 24 ปี กระทรวงคลังเผย 2.8 ล้านล้านเยน ($1.94 หมื่นล้าน) ถูกใช้แทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเดือนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์เชื่อว่าทำวันเดียว 22 ก.ย. แต่อนาคตถ้าจำเป็นญี่ปุ่นก็ยังมี “กระสุน” ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศขนาดมหึมา > $1 ล้านล้านซึ่งอาจนำไปใช้แทรกแซงได้อีก

“พันธมิตรสหรัฐ” จ่อวิกฤต ในเดือนแรกที่เฟดทำ QT ลดขนาดงบดุลเต็มสปีด $95,000 ล้าน และ Fed Funds Target รัวขึ้น 3 x 75 bps สู่ระดับ 3-3.25%

“คู่อริ” ขู่กระหน่ำขายดอลลาร์ จีนสั่งแบงก์รัฐเตรียม USD ปริมาณมหาศาลเผื่อเททิ้งอย่างหนักหน่วงในตลาด offshore หากจำเป็นต้องพยุงค่าเงินหยวน

กรรมการเฟด “แผ่นเสียงตกร่องในลาลาแลนด์” แต่ละคนพูดทำนองเดียวกันแค่จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างบ้าคลั่งต่อไปจนกว่าจะเอาชนะเงินเฟ้อให้จงได้ โดยแทบไม่รับรู้สภาวะตึงเครียดในระบบการเงินโลก คล้ายไฟไหม้บ้านรอบข้างจนควันโขมงทั้งซอยแล้วแต่ยังบอกว่า “ไม่ได้กลิ่นอะไรเลย” พร้อมผิวปากเปิดเตาแก๊สผัดกับข้าวต่อไปสบายใจเฉิบ

“เฟดควรขึ้นดอกเบี้ยช้าลงเพื่อป้องกันความผิดปกติในตลาดเครดิต” Oleg Melentyev และ Eric Yu นักกลยุทธ์ Bank of America เตือนในรายงานฉบับวันศุกร์ (30 ก.ย.) ชี้สัปดาห์ล่าสุดมาตรวัดความตึงเครียดด้านเครดิตสูงถึง “เขตแดนสภาวะวิกฤต” พร้อมแนะเฟดขึ้นดอกเบี้ยช้าลงหรือพักไว้ก่อน (pause) เพื่อให้เวลาเศรษฐกิจปรับตัวตามนโยบายที่ทำไปแล้ว แต่ถ้ายังดึงดันเข้มงวดด้วยสปีดเดิมต่อไปก็เสี่ยงเกิดภาวะ dysfunction ซึ่งยากจะควบคุมและแก้ไข

เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย/ลดงบดุล “เบากว่า” ที่ตลาดคาดในปัจจุบัน เรายึดสมมุติฐานเดิมจาก KTAM Weekly Strategy 19 ก.ย. “ตัวเลขเศรษฐกิจที่แย่ลงคงก่อแรงเสียดทานมหาศาลบนเส้นทางขึ้นดอกเบี้ยทำให้การไปถึง 4.5% ‘ไม่ง่าย’ ขณะสภาพคล่องในตลาดอาจเหือดหายหลังเฟดเริ่มลดขนาดงบดุลเต็มสูบ ถ้าถึงจุดที่ตลาดพันธบัตร ‘ไม่ฟังก์ชัน’ QT ก็คงต้องยุติก่อนกำหนด”

*** ความเห็นล่าสุดของเราจะนำเสนอเช้าวันจันทร์ในรายการ Fund Today by KTAM ***

ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:45 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade, Youtube: KTAM TV ONLINE หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสามช่องทาง นอกจากนี้ดูคลิปย้อนหลังได้ทั้ง Youtube และ Facebook

#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน