ส่งออกส.ค.โต 7.5% ตามคาด บาทอ่อนดันนำเข้าพุ่ง ขาดดุลบาน

HoonSmart.com>>พาณิชย์เผยส่งออกเดือนส.ค.โต 7.5% จากตลาดคาดขยายตัว 7.3-7.7% นำเข้าพุ่งขึ้น 21.3% ขาดดุลการค้า 4,215  ล้านเหรียญฯ รวม 11 เดือนส่งออกขยายตัว 11% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรโต สวนทางสินค้าเกษตรหดตัว 2 เดือนติด เงินบาทอ่อนช่วยส่งออกโตดีกว่าเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 4%  แต่ขาดดุลเพิ่มขึ้น จากนำเข้าสินค้าหมวดพลังงานที่ราคาสูงขึ้นมาก น้ำมันปรับขึ้น 168.7% ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงปรับขึ้น 76%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน ส.ค. 2565 มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.5% จากตลาดคาดว่าจะขยายตัว 7.3-7.7% ทำให้การส่งออกในช่วง 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัว 11.0% ที่มูลค่า 196,446.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนการนำเข้าในเดือน ส.ค. มีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.3% รวม 8 เดือนขยายตัว 21.4% ที่มูลค่า 210,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค. ขาดดุล 4,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุล 14,131.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการส่งออก ได้แก่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า, การกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยว, ความต้องการอาหารที่สูงขึ้น, ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ และความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความเย็นเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในขณะนี้คือ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 18 เดือนต่อเนื่อง โดยในเดือน ส.ค. มีมูลค่า 1,948.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 27.6% และช่วง 8 เดือนมีมูลค่า 16,015.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 29.1%

สินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 173.5% เติบโต 13 เดือนต่อเนื่อง, ไอศกรีม ขยายตัว 71.2% โต 27 เดือนต่อเนื่อง, อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 25.5% ขยายตัว 36 เดือนต่อเนื่อง, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 18.5% ขยายตัว 7 เดือนต่อเนื่อง, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 14.3% ขยายตัว 16 เดือนต่อเนื่อง, เครื่องดื่ม ขยายตัว 14.9% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง

สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 18 เดือนต่อเนื่องเช่นกัน โดยในเดือน ส.ค. มีมูลค่า 18,673.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และช่วง 8 เดือน มีมูลค่า 153,044.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.0% สินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกได้ดี ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 61.1% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัว 53.6% ขยายตัว 10 เดือนต่อเนื่อง, เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 32.8% ขยายตัว 10 เดือนต่อเนื่อง, อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 31.2% ขยายตัว 18 เดือนต่อเนื่อง, แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 25.1% ขยายตัว 12 เดือนต่อเนื่อง, รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 22.5% กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน

อย่างไรก็ตามการส่งออกของสินค้าเกษตรหดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง โดยในเดือน ส.ค. มีมูลค่า 2,115.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -10.3% แต่ช่วง 8 เดือน มีมูลค่า 18,777.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.4%  สินค้าที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัว 125.4% ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง, ข้าว ขยายตัว 15.3% ขยายตัว 7 เดือนต่อเนื่อง

สำหรับตลาดที่ขยายตัวดี 10 อันดับแรกในเดือน ส.ค.  ได้แก่ กลุ่มซีแอลเอ็มวี ขยายตัว 41.1%, แคนาดา ขยายตัว 39.3%, กลุ่มตะวันออกกลาง 38.4%, สหราชอาณาจักร ขยายตัว 32.2%, กลุ่มลาตินอเมริกา ขยายตัว 27.4%, ทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 19.0%, กลุ่มสหภาพยุโรป ขยายตัว 19.0%, สหรัฐฯ ขยายตัว 16.3%, ญี่ปุ่น ขยายตัว 6.6% และ อาเซียน (5) ขยายตัว 5.8%

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าถึงแม้จะส่งผลดีต่อการส่งออกแต่กระทบต่อการนำเข้า ซึ่งจากภาวะการส่งออกในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมายังขยายตัวดีต่อเนื่อง  เติบโตถึง 11% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 4% แต่กลับมียอดขาดดุลจากการนำเข้าสินค้าหมวดพลังงานที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก ได้แก่ น้ำมันปรับขึ้น 168.7% ก๊าซธรรมชาติปรับขึ้น 28.3% ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงปรับขึ้น 76%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สาเหตุที่ไทยขาดดุลการค้าในเดือนส.ค. เนื่องจากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ราคาเพิ่มขึ้นมากถึง 168.7% ราคาน้ำมันเพิ่ม 28.3% ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เพิ่ม 0.6% ซึ่งถือเป็นภาวะที่ไม่ปกติ เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งเงินบาทอ่อนค่า แต่ก็ส่งผลดีต่อการส่งออกที่แข่งขันได้ดีขึ้น