ร้องกสทช. ปม “ฟินันซ่า”ที่ปรึกษาอิสระ “ทรู+ดีแทค” ขาดคุณสมบัติ

HoonSmart.com>>”เอกชัย ไชยนุวัติ” นักวิชาการด้านกฎหมาย ร้อง กสทช. ปม บล.ฟินันซ่า ที่ปรึกษาอิสระดีลควบรวม ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อน ขัดต่อประกาศ ปี 2561

วันนี้ (20 ก.ย.2565 )  นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการด้านกฎหมาย เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง การขาดคุณสมบัติและความไม่สมบูรณ์ของความเห็นของที่ปรึกษาอิสระ ของบริษัท หลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค ถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และเลขาธิการ กสทช.

นายเอกชัย กล่าวว่า จากการติดตามความคืบหน้าในการพิจารณาดีลควบรวม ทรูและดีแทค อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดนั้น ยังไม่เคยเห็นการชี้แจง จากคณะกรรมการ กสทช. ในประเด็นเรื่องที่ปรึกษาอิสระ (บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) ซึ่งตนมีข้อสงสัยและท้วงติงในประเด็นดังกล่าว ต่อไปนี้

// ที่ปรึกษาอิสระ มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ขอควบรวม //

เนื่องจาก ในวรรคท้ายของ ข้อ 10. ในประกาศปี 2561 กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลรวมธุรกิจในกิจการ บัญญัติให้ “เลขาธิการ กสทช. แต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไปตามภาคผนวก ท้ายประกาศนี้ ในการจัดทําความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจ” และ ตามภาคผนวก ที่ปรึกษาอิสระต้อง “มีความเป็นอิสระ ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียกับผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต หรือผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ที่รวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว”

และ ในข้อ 2.2 “ไม่ได้ถูกถือหุ้นโดยผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต หรือ บริษัทในกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต หรือบริษัทในเครือของผู้รับใบอนุญาต หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งกับ ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต” แต่มีข้อเท็จจริงปรากฎดังนี้

บริษัท หลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอิสระ ที่ผู้ขอควบรวม เป็นผู้ส่งชื่อมาให้ กสทช. แต่งตั้งมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา โดย บล.ฟินันซ่า มีความเกี่ยวข้อง และมีส่วนได้ส่วนเสียกับ ผู้มีอำนาจควบคุม กรรมการ ของทรู ที่เป็นผู้ขอควบรวม คือ บล.ฟินันซ่า ถือหุ้นทั้งหมด 100%

โดย บล.ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (บล. เอฟเอสเอส) ซึ่งบล. เอฟเอสเอส มีบล.ฟินันเซีย ไซรัส ถือหุ้นอยู่ 89.99% ซึ่ง บล.ฟินันเซีย ไซรัส มีนายชวัล เจียรวนนท์ ถือหุ้นอยู่ 1.63% โดยมีนายชัชวาล เจียนวนนท์ ซึ่งเป็นบิดาของนายชวัล เจียรวนนท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และนายชัชวาล เจียรวนนท์ ก็ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารในทรูหรือผู้ขอควบรวมด้วย

ดังนั้น บล.ฟินันซ่า จึงขาดคุณสมบัติในเรื่องความเป็นอิสระ ไม่สามารถทำหน้าที่ ที่ปรึกษาอิสระ ที่จะให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ กสทช. ได้ ตามประกาศการรวมธุรกิจ ปี 2561 เพราะเนื่องนายชัชวาล เป็นประธานกรรมการของบริษัทที่ถือหุ้นทางอ้อมอยู่ใน บล.ฟินันซ่าถึง 89.99% ก็ย่อมจะเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ กสทช. ในเรื่องการควบรวมที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ควบรวมธุรกิจ

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูกับดีแทค ของสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ส่งผลการศึกษาและข้อเสนอให้นายกฯ ชะลอการควบรวมนี้ไว้ก่อน โดยผลการศึกษา พบว่า คุณสมบัติของที่ปรึกษานั้น อาจไม่มีความเป็นอิสระจริง รวมทั้งอาจขัดต่อหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ ซึ่งกรรมาธิการได้ทักท้วงต่อตัวแทน กสทช. ที่เข้าร่วมประชุมแล้ว แต่ กสทช. ไม่ได้ชี้แจงเพื่อคลายข้อสงสัยหรือดำเนินการเรื่องนี้แต่อย่างใด

// รายงานของที่ปรึกษาอิสระ ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน //

ขั้นตอนการทำงานของที่ปรึกษาอิสระกับสำนักงาน กสทช. พบว่า บล.ฟินันซ่า ที่แต่งตั้งขึ้นมานั้น ซึ่งโดยปกติก็จะต้องทำงานศึกษา หาข้อมูล ให้ความเห็นต่างๆ ตามที่สำนักงาน กสทช. ในฐานะผู้แต่งตั้งแจ้งให้ดำเนินการ แต่ปรากฏว่าเมื่อ บล.ฟินันซ่า ส่งรายงานความเห็นของตนให้สำนักงาน กสทช. พิจารณา แต่สำนักงาน กสทช. เห็นว่าข้อมูลบางประเด็นยังไม่ครบถ้วนขอให้ศึกษาเพิ่มเติม มิฉะนั้นจะเป็นรายงานที่ไม่สมบูรณ์

แต่ บล.ฟินันซ่า กลับปฏิเสธไม่ดำเนินการให้ แม้สำนักงาน กสทช. จะแจ้งให้ทรูและดีแทค ทราบแล้วก็ตาม จนกระทั่ง ด้วยความเอื้อเฟื้อของสำนักงาน กสทช. เพื่อให้ดีลนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ สำนักงาน กสทช. จึงเป็นผู้ลงมือศึกษาและจัดทำรายงานเพิ่มเติมขึ้นมาเองแทนที่จะเป็นที่ปรึกษาอิสระเป็นผู้ทำ

ด้วยเหตุนี้ กสทช. ย่อมไม่สามารถนำรายงานดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาได้ ต้องให้ที่ปรึกษาอิสระเป็นผู้ทำเพิ่มเติมมา มิฉะนั้น จะเป็นรายงานที่ไม่ถูกต้อง และไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนที่ประกาศฯ กำหนดไว้

// ความเห็นกฤษฎีกา ไม่ผูกพัน กสทช.//

ตามที่ คณะกรรมการ กสทช. ได้มีการทำเรื่องหารือถึงอำนาจหน้าที่ของตนต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นครั้งที่สอง นายเอกชัย เห็นว่า กสทช. เป็นองค์กรที่มีอิสระในการกำกับดูแลการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 60

อีกทั้ง ตามระเบียบของ คณะกรรมการกฤษฎีกาเอง ก็ได้ระบุชัดเจนว่า มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาข้อกฎหมายแก่หน่วยงานราชการที่อยู่ในอำนาจกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเท่านั้น ดังนั้น ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงไม่ผูกพันคณะกรรมการ กสทช. เพราะขัดต่อการทำหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระของคณะกรรมการ กสทช. เป็นเหตุให้คณะกรรมการ กสทช. ไม่สามารถใช้เพื่ออ้างอิงในการพิจารณาใด ๆ ได้

นายเอกชัย ไชยนุวัติ กล่าวปิดท้ายว่า ขอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณายกเลิกการแต่งตั้งบริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด ให้เป็นที่ปรึกษาอิสระในการจัดทำความเห็นประกอบการควบรวมในครั้งนี้ และดำเนินการให้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศเรื่องมาตรการควบรวมปี 2561 ซึ่งเป็นอิสระอย่างแท้จริง ปราศจากการแทรกแซงหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่มบริษัทของผู้ขอควบรวม