ดาวโจนส์ปิดลบ 139 จุด วิตกเศรษฐกิจโลกถดถอย

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดร่วง ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 139 จุด แรงขายต่อเนื่อง นักลงทุนยังคงวิตกเศรษฐกิจโลถดถอย ราคาน้ำมันดิบทรงตัว ด้าน “ตลาดหุ้นยุโรป” ส่วนใหญ่ปิดลบ กังวลแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยและวิกฤติพลังงาน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 16 กันยายน 2565 ปิดที่ 30,822.42 จุด ลดลง 139.40 จุด หรือ 0.45% จากแรงขายที่ต่อเนื่องหลังจาก “เฟดเอ็กซ์” ธุรกิจขนส่งรายใหญ่ระดับโลกงดคาดการณ์ผลการดำเนินงานทั้งปีและเตือนเกี่ยวกับแนวโน้มผลกำไร และยังเตือนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่แย่ลง

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,873.33 จุด ลดลง 28.02 จุด, -0.72%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,448.40 จุด ลดลง 103.95 จุด, -0.90%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 4.1% ดัชนี S&P500 ลบ 4.8% และดัชนี Nasdaq ลดลงราว 5.5% และเป็นสัปดาห์ที่เลวร้ายสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนสำหรับดัชนี S&P 500 และ Nasdaq

แรงขายส่วนหนึ่งมาจากการที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้า 3 สัญญาครบกำหนดพร้อมกัน

เฟดเอ็กซ์งดคาดการณ์แนวโน้มผลการดำเนินงานและจะเริ่มลดค่าใช้จ่ายเพื่อคุมต้นทุน ด้วยการปิดสาขา 90 แห่งและปิดสำนักงาน 5 แห่ง รวมทั้งชะลอการจ้างงานเพิ่ม หลังจากปริมาณการขนส่งสินค้าทั่วโลกลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกแย่ลงอย่างมีนัย และยังชี้ว่าปัจจัยหนึ่งมาจากเศรษฐกิจเอเชียที่อ่อนแอ

หุ้นเฟดเอ็กซ์ลดลง 21.4% เป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดปี 1978 และส่งผลให้หุ้นยูพีเอส ธุรกิจขนส่งรายใหญ่ลดลงด้วย 7%

หุ้นกลุ่มขนส่งโดยทั่วไปจะเป็น leading indicator หรือดัชนีชี้นำถึงแนวโน้มตลาดหุ้นและภาวะเศรษฐกิจ หุ้นโบอิ้งลดลง 9%

แคลลี ค็อกซ์จาก eToro กล่าวว่า มีความกังวลอย่างมากว่าเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งก็มีปัญหาภายในอยู่แล้ว

คำเตือนของเฟดเอ็กซ์ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับภาวะ stagflation หรือเศรษฐกิจเติบโตต่ำ แต่เงินเฟ้อสูง

แม้ผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับที่คาด แต่นักวิเคราะห์ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของผลกำไรไตรมาสลง โดยคาดวาจะเติบโต 3.7% จากเดิมที่คาดไว้ 9.8%

อย่างไรก็ตามคริส ฮัสซีย์จาก โกลด์แมน แซคส์มองว่า เศรษฐกิจจะ soft landing มากกว่า และยังไม่เกิดภาวะ stagflation แม้เงินเฟ้อสูง แต่การจ้างงานนอกภาคเกษตรยังเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่ง และอัตราว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำมากที่ 3.7%

นอกจากนี้โกลด์แมนแซคส์ยังคงมุมมองว่า ภายในสิ้นปีนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีจะแตะระดับ 4% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีจะแตะระดับ 4.3% ในสิ้นไตรมาสสองของปีหน้า

เมื่อวานนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีอ่อนตัวลงมาที่ 3.44% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีอยู่ที่ 3.85%

ด้านมหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกันยายนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.5 จาก 58.2 ในเดือนสิงหาคม แต่ต่ำกว่า 60.0 ที่คาดไว้

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง จากความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจรวมทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ตลอดจนวิกฤติพลังงาน ส่งผลให้หุ้นหลายกลุ่มลดลงถึง 1.5% ส่วนกลุ่มรถยนต์ลดลง 1% แม้ยอดขายรถในยุโรปดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน

โดยยอดขายรถยนต์เดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 4.4% จากตลาดหลักคือ สเปน อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส

เงินเฟ้อยูโรโซนเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 9.1% ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.5% ตัวเลขเบื้องต้น ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบรายปี

ฝรั่งเศสมีเงินเฟ้อต่ำสุดในยูโรโซนเพิ่มขึ้น 6.6% หลังคุมเพดานราคาพลังงาน

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในเยอรมนีปรับตัวขึ้นไปที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011 โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีเพิ่มขึ้นมาที่ 1.59%

เงินปอนด์อ่อนค่าลงไปที่ระดับต่ำสุดรอบ 37 ปีเทียบเงินดอลลาร์ หลังจากลงไปที่ระดับต่ำกว่า

1.14 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1985 เนื่องจากกังวลเศรษฐกิจถดถอย

ยอดค้าปลีกอังกฤษเดือนสิงหาคมลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า แย่กว่าการลดลง 0.5% ที่นักวิเคราะห์คาด

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 408.24 จุด ลดลง 6.54 จุด, -1.58%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,236.68 จุด ลดลง 45.39 จุด, -0.62%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,077.30 จุด ลดลง 80.54 จุด, -1.31%,

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,741.26 จุด ลดลง 215.40 จุด, -1.66%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 1 เซนต์ หรือ 0.01% ปิดที่ 85.11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือน เพิ่มขึ้น 51 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 91.35ดอลลาร์ต่อบาร์เรล