บล.กสิกรฯให้แนวรับ 1,600 สัปดาห์หน้า ลุ้นเฟดขึ้นดอกเบี้ย 1% หรือ 0.75%

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้แนวรับที่ 1,610 และ 1,600 จุด  แนวต้านอยู่ที่ 1,645 และ 1,655 จุด ตามลำดับ  ระทึกมติเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 1% หรือไม่ หลังเงินเฟ้อส.ค.เพิ่มขึ้น 8.3% มากกว่าที่คาดไว้  ด้านค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบเคลื่อนไหว 36.50-37.50 บาท หลังอ่อนทะลุ  37.00  อ่อนมากสุดในรอบเกือบ 16 ปี เงินหยวนอ่อนกว่า 2 ปี แตะ 7.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ส่งผลต่อฟันด์โฟลว์ 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (19-23 ก.ย.2563) ว่า ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,610 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,645 และ 1,655 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (20-21 ก.ย.) รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค. ดัชนี PMI เดือนก.ย. (เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BoE และ BoJ ดัชนี PMI เดือนก.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.ย. ของจีน

ในวันศุกร์ (16 ก.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,630.40 จุด ลดลง 1.46% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 74,222.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.10% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.28% มาปิดที่ 675.52 จุด

ตลาดหุ้นร่วงลงเกือบตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้ SET Index ขยับขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ และแรงแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นปรับตัวลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค. ล่าสุดของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาดการณ์ของตลาด รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังธนาคารโลกเตือนว่าเศรษฐกิจโลกอาจเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2566 นอกจากนี้ หุ้นยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยของดัชนี FTSE ซึ่งมีผลในวันที่ 16 ก.ย. นี้

สำหรับค่าเงินบาท สัปดาห์ถัดไป (19-23 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ระดับ 36.50-37.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ในวันศุกร์ที่ 16 ก.ย. 2565 เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีที่ 37.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.31 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 ก.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 12-16 ก.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,998 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflow เข้าตลาดพันธบัตรประมาณ 861 ล้านบาท (แม้ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 3,141 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 2,280 ล้านบาท)

เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันในช่วงก่อนการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีเงินบาทลดช่วงบวกทั้งหมดลงและพลิกอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI และ Core CPI ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งหนุนแนวโน้มการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (แม้เสียงส่วนใหญ่จะมองว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แต่ตลาดบางส่วนเริ่มมองความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะขึ้นมากกว่านั้นในการประชุม 20-21 ก.ย. นี้)

นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินหยวน (หลุดระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ฯ แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 ปี) และการร่วงลงของราคาทองคำในตลาดโลกก็กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเพิ่มเติมช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน อนึ่ง ธปท. ระบุว่า ยังคงติดตามสถานการณ์เงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลหากเงินบาทผันผวนมากผิดปกติ