กองทุนรวม 8 เดือนวูบ 4.52 แสนลบ. ลด 8.4% ศก.โลกผันผวน เงินลงทุนนอกหดต่ำ 1 ล้านลบ.

HoonSmart.com>> “สมาคมบริษัทจัดการลงทุน” เผย 8 เดือนแรกปี 65 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 4.52 แสนล้านบาท กว่า 8.44% จาก 5.37 ล้านล้านบาท เหลือ 4.91 ล้านล้านบาท ด้าน “ชวินดา หาญรัตนกูล” นายกสมาคมฯ ชี้สงครามยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจโลกผันผวนหนัก ฉุดทุกสินทรัพย์ราคาปรับตัวลดลง “ตราสารหนี้” วูบ “หุ้น” ร่วง กองทุนต่างประเทศ (FIF) มูลค่าลดต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท มองความผันผวนยังไม่จบ แนะลงทุนอย่างระมัดระวัง ทยอยเข้าลงทุน

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) กองทุนรวมทั้งระบบ ในช่วง 8 เดือนแรก ณ วันที่ 31 ส.ค.2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,915,950 ล้านบาท ลดลง 452,974 ล้านบาท หรือ -8.44% จากสิ้นปี 2564 มีมูลค่า 5,368,924 ล้านบาท โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เกือบทั้งหมดมีมูลค่าทรัพย์สินปรับตัวลดลง ยกเว้นบลจ.เอไอเอ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 5,922 ล้านบาท หรือ 15.25% จากสิ้นปีก่อนและบลจ.เอ็กซ์สปริง เพิ่มขึ้น 5.42 ล้านบาท หรือ 15.96% จากสิ้นปีก่อน

ภาพรวมการลงทุนที่ผันผวนจากอัตราเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ลดลง 225,392 ล้านบาท หรือ -9.90% จากสิ้นปีที่ผ่านมามาอยู่ที่ 2,275,915 ล้านบาท ลดลงเหลือ 2,050,523 ล้านบาท กองทุนที่ลงทุนในหุ้นมูลค่าลดลง 167,511 ล้านบาท หรือ -9.25% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,810,753 ล้านบาท ลดเหลือ 1,643,242 ล้านบาท

ด้านกองทุนรวมผสมมูลค่าลดลง 51,691 ล้านบาท หรือ -12.89% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 400,990 ล้านบาท ลดเหลือ 349,299 ล้านบาท

ขณะที่แยกรายประเภทกองทุนรวมที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) มูลค่าลดลง 20.92% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,234,518 ล้านบาท ลดลงเหลือ 976,236 ล้านบาท กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) มูลค่าเพิ่มขึ้น 58,053 ล้านบาท หรือ 21.45% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 270,690 ล้านบาท มาอยู่ที่ 328,743 ล้านบาท ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) มูลค่าเพิ่มขึ้น 11,822 ล้านบาท หรือ 5.76% จากสิ้นปีที่ผ่านมาขึ้นมาอยู่ที่ 216,985 ล้านบาท

ส่วนกองทุนรวมที่ลดหย่อนภาษี อย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มูลค่าลดลง 28,263 ล้านบาท หรือ -7.73% จากสิ้นปีที่ผ่านมาเหลือ 337,301 ล้านบาท กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มูลค่าลดลง 11,070 ล้านบาท หรือ -2.83% จากสิ้นปีที่ผ่านมาเหลือ 379,499 ล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว (SSF) เพิ่มขึ้น 1,435 ล้านบาท หรือ 3.96% มาอยู่ที่ 37,633 ล้านบาท ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทสไทย) เผยกองทุน SSF เงินไหลเข้าสุทธิสะสม 8 เดือนรวม 3.5 พันล้านบาท ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ 3.3 พันล้านบาท

ด้านบลจ.ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจกองทุนรวมเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นบลจ.กสิกรไทย มีมูลค่า 1,051,908 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 21.40% และเป็นบลจ.รายเดียวที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารทะลุ 1 ล้านล้านบาท โดยในช่วง 8 เดือนแรกมูลค่าทรัพย์สินของบลจ.กสิกรไทยลดลง 120,049 ล้านบาท หรือ -10.24% จากสิ้นปีก่อนลงมาเหลือ 1,051,908 ล้านบาท

ขณะที่อันดับสอง บลจ.ไทยพาณิชย์ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 896,105 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 18.23% ลดลง 47,479 ล้านบาท หรือ -5.03% จากสิ้นปีก่อน อันดับสาม บลจ.บัวหลวง มูลค่า 743,007 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 15.11% มูลค่าลดลง 23,925 ล้านบาท หรือ -3.12% จากสิ้นปีก่อน อันดับสี่ บลจ.กรุงไทย มูลค่า 589,900 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 12.00% ลดลง 96,459 ล้านบาท หรือ -14.05% จากสิ้นปีก่อนและอันดับห้า บลจ.กรุงศรีมีมูลค่า 396,973 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 8.08% ลดลงจากสิ้นปีก่อน 34,031 ล้านบาท หรือ -7.90%

ชวินดา หาญรัตนกูล

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมปีนี้นี้ติดลบประมาณ 6-7% ซึ่งมาก ไม่ได้เกิดภาพนี้มานาน ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ทุกสินทรัพย์ถูกกระทบหมด จากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งเรื่องของสงครามที่ลากยาวทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวนหนักขึ้น ส่งผลให้ตราสารหนี้ถูกเทขายหนัก ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับตัวลดลง

ในส่วนของบลจ.กรุงไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ การดำเนินงานจึงต้องล้อไปกับอุตสาหกรรมของประเทศและตอนนี้ต้องดูแลนักลงทุนให้ดีที่สุด ค่อยๆเป็นค่อยๆไป การแนะนำก็แนะนำอย่างระมัดระวังให้แก่นักลงทุน เพราะความผันผวนยังไม่จบ นักลงทุนก็ยงกังวลกับการลงทุน อย่างไรก็ตามอยากให้มองข้ามชอร์ต ทุกอย่างมีขึ้นก็มีลงเป็นไปตามวัฎจักร จึงแนะนำให้นักลงทุนค่อยๆ ทยอยลงทุน

นางชวินดา กล่าวว่า สำหรับตลาดหุ้นไทยในปีนี้ปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นต่างประเทศ ในขณะเดียวกันยังเห็นกองทุน RMF-SSF มีการเติบโต อาจเกิดจากนักลงทุนที่เข้าใจตลาดมีมากขึ้น ในจังหวะที่ตลาดปรับตัวลดลงจึงมีเม็ดเงินเริ่มเข้ามาลงทุนในกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งต่างจากกองทุน LTF ที่มูลค่าทรัพย์สินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษี จึงอาจทำให้นักลงทุนอาจขายหรือโยกเงินลงทุนออกไปลงทุนกองทุนรวมอื่นๆ

อ่านข่าว

‘บลจ.อีสท์สปริง’ เปิดกลยุทธ์ลงทุนสู้ความผันผวน แนะเพิ่มสัดส่วนหุ้น-สินทรัพย์ทางเลือก

“บลจ.ทิสโก้” มองบวกหุ้นไทย โชว์ทริกเกอร์ฟันด์เข้าเป้า 5% ก่อนกำหนด