TSE เตรียมออกหุ้นกู้ อายุ 2 ปี ชู ดบ. 5.10-5.30% ต่อปี จ่ายทุก 3 เดือน

HoonSmart.com>>ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ เตรียมออกหุ้นกู้ อายุ 2 ปี ชูผลตอบแทน 5.10 – 5.30% ต่อปี มูลค่าไม่เกิน 2,350 ล้านบาท  เสนอขายผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ (PP II&HNW) ระหว่างวันที่ 21 และ 25-26 ต.ค. 65 นี้

ดร. แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่  (TSE ) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อขออนุญาตและเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2565 อายุ 2 ปี เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.10 – 5.30 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือนของทุกปี ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

TSE จะเสนอขายให้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ (PP II&HNW) ระหว่างวันที่ 21 และ 25-26 ต.ค. 65 สามารถจองซื้อหุ้นกู้ขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท มูลค่ารวมไม่เกิน 2,350 ล้านบาท ผ่าน 8 สถาบันการเงินชั้นนำ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ , บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย), บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน  , บริษัทหลักทรัพย์ บลูเบลล์, บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส, บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย), บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส

ทั้งนี้ บริษัทหรือผู้ออกหุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB- แนวโน้ม Stable สะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงจากการดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และประวัติผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าที่ได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

บริษัทฯ มีอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำที่ 1.91 เท่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 และไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้และ/หรือดอกเบี้ย หรือผิดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้

ดร.แคทลีน เปิดเผยอีกว่า  การออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมไว้สำหรับชำระคืนเงินกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม 2565 จำนวน 2,350 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแผนที่จะขยายกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย ผ่านการซื้อโซลาร์ฟาร์มที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว และสามารถรับรู้รายได้ๆ ทันที รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุนจากโครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากทางภาครัฐที่มีการเพิ่มโควต้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ ground mount และ hybrid – Battery storage ทั้งแบบ SPP และ VSPP ในปลายปีนี้