หุ้นจ่อ 1,700 จุดสัปดาห์หน้า ลุ้นการเมือง-ฟันด์โฟลว์

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,640 และ 1,620 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,690 จุด ส่วนค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยคาดระดับ 35.80-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ  จับตาตัวเลขเงินเฟ้อต่างประเทศ 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (12-16 ก.ย.2565) ว่าดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,640 และ 1,620 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,690 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงประเด็นการเมืองในประเทศ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BoE ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในทรัพย์สินถาวร

ในวันศุกร์ (9 ก.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,654.62 จุด เพิ่มขึ้น 2.00% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 67,413.58 ล้านบาท ลดลง 11.39% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 5.18% มาปิดที่ 666.98 จุด

ตลาดหุ้นดีดตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แม้เผชิญแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ SET Index แกว่งตัวกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ก่อนจะทยอยปรับขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยหุ้นกลุ่มที่หนุนตลาด หลักๆ ได้แก่ กลุ่มพลังงานที่มีปัจจัยบวกส่วนหนึ่งจากการประชุมโอเปก มีมติปรับลดกำลังการผลิตลงในเดือนหน้า รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยี ที่มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง รับข่าวตลาดหลักทรัพย์ เตรียมปรับปรุงเกณฑ์ Turnover Ratio สำหรับการพิจารณาคัดเลือกหุ้นใน SET50 และ SET100

ส่วนค่าเงินบาท สัปดาห์ถัดไป (12-16 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหว ที่ระดับ 35.80-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ในวันศุกร์ที่ 9 ก.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ก.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 5-9 ก.ย. แม้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,204 ล้านบาท แต่ก็ซื้อสุทธิพันธบัตรไทยสูงถึง 10,935 ล้านบาท

เงินบาทพลิกแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ตามทิศทางค่าเงินหยวน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองสกุลเงินตราต่างประเทศที่สถาบันการเงินต้องดำรงไว้ลง ซึ่งทำให้ตลาดตีความว่าเป็นความพยายามเพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวน อย่างไรก็ดีเงินบาทและสกุลเงินอื่นในเอเชียกลับมาเผชิญแรงขายช่วงสั้นๆ ในช่วงกลางสัปดาห์ ตามสถานการณ์เงินเยน (อ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี) และเงินหยวน (อ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปี) ซึ่งถูกกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งมีทิศทางแตกต่างไปจากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ

นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตร แม้ว่าประธานเฟดจะส่งสัญญาณคุมเข้มต่อเนื่อง แต่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเพิ่มเติมช่วงปลายสัปดาห์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินยูโร หลัง ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%ตามที่ตลาดคาด และส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อของยูโรโซนซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักในระยะข้างหน้าตามทิศทางราคาพลังงาน