HoonSmart.com>> “บลจ.ทิสโก้” เปิดขายกองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส เทคโนโลยี ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป (TUSTECH-A) และชนิดหน่วยลงทุนเพื่อการออม (TUSTECH – SSF) เน้นลงทุนในหุ้นผู้นำเทคโนโลยีสหรัฐฯ ชูจุดเด่นกำไรโตเด่นไม่หวั่นแม้เศรษฐกิจถดถอย เปิดขาย IPO ครั้งแรก 9-20 ก.ย.นี้
นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า หุ้นเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในหุ้นเมกะเทรนด์ของโลก มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันอย่างขาดไม่ได้ และเป็นหนึ่งในกลุ่มหุ้นที่รายได้เติบโตได้ดีในทุกสภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยลบทั้งอัตราเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เคยกดดันราคาหุ้นเทคโนโลยีจนราคาปรับลงแรงที่สุดในรอบ 15 ปี กำลังหมดไป เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และค่อยๆ ปรับตัวลดลงจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย
ด้านการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ลงทุนทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่าตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 เป็นต้นไปเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มชะลอตัวทำให้ Fed อาจกลับมาหยุดการขึ้นดอกเบี้ย หรืออาจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง
ดังนั้น บลจ.ทิสโก้มองว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนหุ้นผู้นำเทคโนโลยีที่ราคาหุ้นผันผวนต่ำ ฐานการเงินแข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานมีโอกาสเติบโตได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจ จึงเปิดเสนอขาย กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส เทคโนโลยี ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป (TUSTECH-A) และชนิดหน่วยลงทุนเพื่อการออม (TUSTECH – SSF) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน The Technology Select Sector SPDR (กองทุนหลัก) ซึ่งเป็นกองทุนรวม ETF ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ลงทุนในหุ้นหมวดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ที่อยู่ในดัชนี S&P 500 เปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) 9-20 ก.ย.2565
ทั้งนี้ ผู้สนใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนกองทุนรวม SSF
“หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมีโอกาสสูงที่ราคาจะกลับมาฟื้นตัวแรงโดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรม เพราะกำไรเติบโตได้ดีแม้จะมีวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย โดยข้อมูลจากบลูมเบิร์กวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 พบว่าอัตราการเติบโตของกำไรในระยะยาว (CAGR) ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเติบโตในระดับ 10% สูงกว่าตลาดหุ้นรวม (S&P500) มีระดับ CAGR ที่ 6.9% ต่อปี และยิ่งหากเจาะลึกลงไปที่อัตราการเติบโตของกำไรหุ้นกลุ่ม Information Technology พบว่ามีอัตราการเติบโตของกำไรในระดับสูงอย่างโดดเด่น ข้อมูลจากบลูมเบิร์กวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ระบุว่าตั้งแต่ปี 2552-2564 หุ้นกลุ่ม Information Technology มีกำไรต่อหุ้น (EPS) เติบโตเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ 22% และมีรายได้เติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 8% ต่อปี ขณะที่ในระหว่างปี 2564 – 2567 คาดว่าหุ้นกลุ่มนี้จะมีรายได้เติบโต 8% ต่อปี และมีกำไรเติบโต 13.3% ต่อปี” นายสาห์รัช กล่าว
สำหรับตัวอย่างหุ้นที่กองทุนหลักเข้าไปลงทุน เช่น Apple บริษัทเทคโนโลยีที่มีรายได้อันดับหนึ่งในสหรัฐฯ และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยปี 2564 ครองส่วนแบ่งการตลาดของสมาร์ทโฟนไปถึง 60% และยังแสวงหานวัตกรรมและธุรกิจใหม่ๆ เสมอ โดยปี 2564 บริษัทได้ทุ่มเงินเพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่กว่า 3,348 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมารายได้ประจำปีของ Apple เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า (ที่มา: Bloomberg, Apple, Statistica, 2565) อีกตัวอย่างคือ Microsoft หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มี ฐานลูกค้าทั่วโลก ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ล้วนใช้บริการของ Microsoft ในทุกๆ วัน ซึ่งรายได้ตั้งแต่ปี 2545-2565 โต 700% (ที่มา: statista, 2565)
พิเศษสำหรับลูกค้าที่มียอดเงินลงทุนในกองทุน TUSTECH – A ตั้งแต่วันที่ 9–30 ก.ย.2565 ตั้งแต่ 90,000 – 899,999 บาท รับหน่วยลงทุนกองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ ชนิดหน่วยลงทุน A (TSF-A) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) มูลค่า 159 บาท ยอดเงินลงทุนสะสมตั้งแต่ 900,000 – 8,999,999 บาท รับหน่วยลงทุน TSF-A มูลค่า 1,599 บาท ยอดเงินลงทุนสะสมตั้งแต่ 9,000,000 – 28,999,999 ล้านบาทรับหน่วยลงทุน TSF-A มูลค่า 15,999 บาท และยอดเงินลงทุนสะสมตั้งแต่ 29 ล้านบาทขึ้นไป รับสิทธิสุด Exclusive ในการเหมาโรงหนังจัดปาร์ตี้ชมภาพยนตร์แบบส่วนตัว 30 ที่นั่ง ที่โรงภาพยนตร์ SFX The Crystal Ekamai-Ramintra แบบ Day Bed มูลค่า 45,000 บาท (1 สิทธิ ต่อ 1 ท่าน)
กองทุนเปิด TUSTECH – A และ TUSTECH – SSF มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ และอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากการลงทุนในต่างประเทศ จึงมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนรวม