JAS ขาลง คาดปี 65 ขาดทุนทะลุ 1,000 ลบ.

HoonSmart.com>>”จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล” หรือ JAS ตัดสินใจขายทิ้งบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้สูงถึง 90% เพราะส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจบรอดแบนด์บ้าน (FBB) ภายใต้แบรนด์ 3BB ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนรายได้โตไม่ทันกับรายจ่าย ทำให้บริษัทประสบปัญหาการขาดทุนมานานหลายปี นอกจากนี้ยังขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ที่ถืออยู่ทั้งหมดจำนวน 19% อีกด้วย ตอนนี้ยังมองไม่ออกว่าอนาคตของ JAS จะเดินต่อไปในทิศทางไหน?

JAS กำหนดวันจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น วันที่ 23 ก.ย.2565 เพื่อขออนุมัติการจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดใน TTTBB มูลค่าทั้งสิ้น 19,500 ล้านบาท และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน ในราคาหุ้นละ 8.50 บาท มูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท ให้แก่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่ม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)

ผู้ถือหุ้นอาจจะมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เนื่องจากธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของ TTTBB อยู่ในช่วงขาลง เมื่อความสามารถในการแข่งขันลดลง ก็ต้องเดินออกจากสนามไป และนำเงินที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินครั้งนี้มูลค่าประมาณ 32,420 ล้านบาท ไปต่อยอดธุรกิจอื่นของบริษัท หรือหาโอกาสจากธุรกิจใหม่ที่มีการแข่งขันไม่รุนแรงนัก น่าจะดีกว่า

แต่การตัดสินใจครั้งนี้ อาจจะสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เมื่อ JAS ตัดสินใจผิดพลาด ในการขายหุ้นทั้งหมดของบริษัทจัสเทล เน็ทเวิร์ค (JASTEL) ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ตในประเทศและระหว่างประเทศ ให้กับบริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ (JTS) ทำให้การรับรู้รายได้และกำไรลดฮวบ จากที่เคยได้ทั้งหมด 100 % เหลือเพียงการรับรู้ผ่านการถือหุ้น JTS แค่ 32.80% เท่านั้น จนต้องหันมาพึ่งพารายได้จาก TTTBB ถึง 90 % แทน ถือว่าเป็นการบริหารธุรกิจบนความเสี่ยงที่สูงมาก

ธุรกิจบรอดแบนด์ของ 3BB เคยมีส่วนแบ่งการตลาดในเชิงรายได้ประมาณ 30% ในปี 2561 แต่ปัจจุบันครึ่งปี 2565 ลดลงเหลือ 27% ขณะเดียวกันรายได้เฉลี่ยต่อราย (ARPU) ก็ไหลลงอย่างต่อเนื่อง ในอดีตเคยได้สูงถึง 650 บาท/ราย ปัจจุบันเหลือเพียง 591 บาท/ราย แต่ก็ยังคงสูงกว่าผู้ให้บริการรายอื่นๆ ซึ่งในสภาวะปัจจุบันที่เกิดสงครามราคาขึ้นในตลาด การที่ราคาของ 3BB ไม่สามารถปรับลด เพื่อแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่น จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบมากกว่าบวก ในการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลต่อการเติบโตของรายได้จากการให้บริการน้อยกว่าคู่แข่ง

ทั้งนี้ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตบ้านมากขึ้น จากการเรียนและทำงานที่บ้าน แต่อัตราการเติบโตของยอดผู้ใช้บริการของ 3BBก็ยังคงต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง True online และ AIS Fibre หรือแม้แต่ National Telecom: NT (เดิม TOT) โดยผู้ให้บริการหลักทุกรายมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของยอดผู้ใช้บริการมากกว่า 2% ยกเว้นเพียง3BB ที่ต่ำกว่า 2%

“จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ JAS ซึ่งพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่ 90% มาจากธุรกิจ 3BB มีการเติบโตที่ไม่มากนัก ซึ่งตรงข้ามกับรายจ่ายที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้รวมในไตรมาสที่ 2/2565 ลดลง 2.3% จากไตรมาสก่อน จากจำนวนยอดผู้ใช้บริการที่ลดลงกว่า 15,000 ราย (ยอดผู้ใช้บริการที่สามารถเก็บเงินได้) และ ARPU ที่ลดลงจาก 596 บาท/ราย เป็น 591 บาท/ราย จนทำให้ผลประกอบการรวมย่ำแย่ลง เป็นขาดทุนสุทธิ -229 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนการให้บริการสูงขึ้น 3.5% จากไตรมาสก่อนและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ยังคงสูงอยู่ระดับ 20% ของรายได้รวม ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าเช่าไฟเบอร์ออปติกราคาสูงกับกองทุน JASIF ซึ่งจะต้องหาทางลดต้นทุน เช่นการเจรจาลดค่าเช่าจาก JASIF ที่ปัจจุบัน 3BB มีการจ่ายค่าเช่าในอัตราที่สูงกว่าผู้ให้บริการรายอื่นค่อนข้างมาก

JAS มีผลการดำเนินงานถดถอย เพราะไตรมาสที่ 2 พลิกเป็นขาดทุน จาก 2 ไตรมาสก่อนคือ ไตรมาสที่ 4/2564 และ ไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิ 45 ล้านบาทและ132 ล้านบาทตามลำดับ ทั้งนี้ นับว่าเห็นกำไรเพียง 2 ไตรมาสเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

แนวโน้มผลการดำเนินงานของ JAS ยังคงแย่ลง ในมุมมองของนักวิเคราะห์ อาทิ บล.โนมูระ พัฒนสิน คาดว่า ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 จะยังคงขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 100-200 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้งปี 2565 ขาดทุนรวมอยู่ที่ 1,075 ล้านบาท ด้านนักวิเคราะห์บล.กสิกรไทย คาดว่าในปี 2565 JAS จะมีผลขาดทุนสุทธิ ประมาณ 1,234 ล้านบาท

“บริษัทมีไข่ในตระกร้าน้อยใบ เมื่อไข่ใบใหญ่เกิดร้าวขึ้นมา ก็ทำให้มูลค่าโดยรวมลดลง จึงไม่แปลกใจเมื่อเห็นราคาหุ้น JAS ไหลลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่บริษัทประกาศดีลขายทรัพย์สินครั้งสำคัญ 4 ก.ค.2565 นักลงทุนยอมจ่ายค่าหุ้นสูงกว่า 3 บาท ล่าสุดเหลือเพียง 2.64 บาท จะต้องจับตาว่าบริษัทฯจะเลือกธุรกิจใดเป็นเรือธงต่อไป โดยบริษัทยืนยันว่าไม่เข้าข่ายมีสินทรัพย์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในรูปของเงินสด(Cash Company) แต่อย่างใด”