“พาณิชย์” เผยส่งออกก.ค.65 ขยายตัว 4.3% ต่ำกว่าคาด

HoonSmart.com>> ส่งออกเดือนก.ค.65 โต 4.3% ต่ำกว่าตลาดคาดเติบโต 10.7-11% ส่วน 7 เดือนแรกขยายตัว 11.5% ธนาคารไทยพาณิชย์เผยต้นเหตุจากตลาดจีนหดตัวแรง แนวโน้มส่งออกช่วงที่เหลือของปีนี้ชะลอตัวลงต่อเนื่อง เล็งปรับเป้าจากเดิมคาดปีนี้โต 5.8% ด้านบล.โนมูระพัฒนสิน ชี้ส่งออกก.ค.ต่ำกว่าคาด จากสินค้าอุตสาหกรรม ด้านสินค้าเกษตรยังดี สวนทางราคาหุ้นกลุ่มเกษตรร่วง แนะเก็งกำไรระยะสั้น GFPT, TFG, CPF และ ASIAN

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ก.ค.2565 ว่า การส่งออกไทยในเดือน ก.ค.2565 มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 27,289.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 23.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือน ก.ค.2565 ไทยขาดดุลการค้า 3,660.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยในเดือน ก.ค.2565 มีมูลค่า 20,306.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการส่งออกในเดือน ก.ค.2565 ได้แก่ ความต้องการอาหารในทั่วโลกยังเติบโตต่อเนื่อง ,การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และการเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยวมากขึ้น ,ค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลง ความหนาแน่นและความล่าช้าในการขนส่งบริเวณท่าเรือสำคัญของโลกคลี่คลาย ,ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนให้การส่งออกดีขึ้น และมาตรการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์

สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2565) การส่งออกไทย มีมูลค่า 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 11.5% และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2565) ขยายตัวได้ 8.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 147,451.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 182,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 21.4% ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานว่า มูลค่าการส่งออกไทยเดือน ก.ค. หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ -7.8% แต่หากไม่รวมทองคำจะหดตัวสูงถึง -11.9%
นับว่าชะลอลงมากที่สุดในรอบ 17 เดือน จากการส่งออกไปจีนที่หดตัวรุนแรง หดตัว -20.6% สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ -2.7% อยู่มาก การส่งออกไปญี่ปุ่นและฮ่องกงก็หดตัว -4.7% และ -31.3% ตามลำดับ การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกไปยุโรป (EU28) ยังขยายตัวได้ดีที่ 9.3% แม้ยุโรปจะเผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจมาก การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวต่อเนื่องสูงถึง -42.6% และ -87.5% แต่ไม่ได้มีนัยต่อเศรษฐกิจไทยมากเนื่องจากเป็นตลาดส่งออกขนาดเล็กของไทย สำหรับการส่งออกไปยัง CLMV และ ASEAN5 ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

EIC ประเมินว่าการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนกันยายนจากความเสี่ยงและความเปราะบางในเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่อาจทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออก อาจเร่งตัวขึ้นได้ในเดือนส.ค.เป็นการชั่วคราวจากปัจจัยฐานต่ำในเดือนส.ค.2564 โดย EIC อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งปี2565 ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.8%

ด้านบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน มองตัวเลขส่งออกไทย ก.ค. 65 +4.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้แย่กว่าตลาดคาด แต่เกิดจากสินค้าอุตสาหกรรมที่ +0.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง อาหารแปรรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง, อาหารทะล+แปรรูป ยังเป็นภาพบวกต่อ KSL, BRR, GFPT, CPF, ASIAN, TU

“ทิศทางดังกล่าวไม่สอดคล้องราคาหุ้นเช้านี้ที่ปรับตัวลงตอบรับความผิดหวังต่อตัวเลขภาพรวม KSL (-1.1%), BRR (-0.6%), CPF(-1.9%), GFPT (-3.1%), TFG (-3.2%), TU (-1.1%), ASIAN (-1.1%)”

ส่วนกลุ่มที่เป็นลบ คือ สินค้าอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์+อุปกรณ์ (-21.3%y-y) เทียบกับ ยอด 7M22 ที่ -2.0%y-y สะท้อนภาพชะลอตัวลงอย่างมีนัยฯ ลบต่อหุ้นจำหน่ายสินค้าไอที (SYNEX, SIS, COM7)

บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินราคาหุ้นส่งออกสินค้าเกษตรข้างต้นปรับตัวลงไม่สอดคล้องกับรายงานตัวเลขส่งออกสินค้าที่ยังสดใสและเร่งขึ้น ตามความต้องการอาหารโลก ที่คาดว่าช่วงถัดไปยังดีต่อเนื่อง จากปัญหาคลื่นความร้อน เป็นโอกาสเข้าลงทุน, เก็งกำไรระยะสั้นได้ โดยเฉพาะหุ้นที่ปรับฐานแรง อาทิ GFPT, TFG, CPF และ ASIAN