MINT จ่อขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ 1-6 ก.ย.นี้ ชูดอกเบี้ย 5 ปีแรก 6.10% ต่อปี

HoonSmart.com>> “ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” เตรียมเปิดขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ 1 – 2 และ 5 – 6 ก.ย.นี้ แก่ประชาชนทั่วไป พร้อมผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิม จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท ผ่าน 10 สถาบันการเงินและแอปฯ Bualuang mBanking แบงก์กรุงเทพ จ่ายดอกเบี้ย 5 ปีแรก 6.10% ต่อปี ชูอันดับความน่าเชื่อถือบริษัทฯ ระดับ “A” แนวโน้ม “Stable” อันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ที่ระดับ “BBB+”

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 – 2 และ 5 – 6 ก.ย.2565 บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ครั้งที่ 1/2565 (หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ) จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท มูลค่ารวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติมไม่เกิน 3,000 ล้านบาท มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 13,000 ล้านบาท แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อทดแทนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิม (MINT18PA) ที่จะไถ่ถอนก่อนกำหนดในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ โดยผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิมจะได้รับชำระคืนเงินต้นในวันที่ไถ่ถอนและสามารถนำเงินดังกล่าวมาลงทุนอย่างต่อเนื่องในหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ของบริษัทฯ

หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ กำหนดอัตราดอกเบี้ยช่วง 5 ปีแรกที่ 6.10% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน และจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุก 5 ปี อ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี โดยบริษัทฯ ได้รับการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือที่ “A” แนวโน้ม “Stable” และหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ “BBB+” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 นอกจากนี้ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก บริษัทฯ ยังคงสามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ได้อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำถึงศักยภาพธุรกิจและฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง

สำหรับผู้สนใจลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ สามารถจองซื้อกับสถาบันการเงิน 10 แห่ง ที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย, บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) , บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส และบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต

นอกจากนี้เพื่อเพิ่มโอกาสและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนรายย่อยในการเข้าถึงการลงทุนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ของ MINT ครั้งนี้ ได้เพิ่มช่องทางการจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ผ่านแอปพลิเคชัน Bualuang mBanking ของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ให้ผู้สนใจลงทุนจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือได้

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT กล่าวต่อว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายกลับมาทำกำไรภายในปีนี้ หลังจากทั่วโลกคลายความกังวลจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีการเปิดประเทศ ผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางและมาตรการล็อกดาวน์ ตลอดจนทยอยประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่น ส่งผลให้ภาพรวมการท่องเที่ยวทั่วโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับจากปีที่ผ่านมา และเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของ MINT ทั้ง 3 กลุ่มคือ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และไลฟ์สไตล์ ที่มีผลการดำเนินปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 32,181 ล้านบาท เติบโต 106% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษีและค่าเสื่อม) 9,059 ล้านบาท เติบโต 192% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจโรงแรมที่เป็นสัดส่วนรายได้หลักฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สำหรับโรงแรมในยุโรป มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 68% ส่วนราคาห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 130 ยูโรต่อคืน เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) ที่ 89 ยูโร สูงกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโรค COVID-19 เป็นต้น

ส่วนธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยทยอยฟื้นตัวหลังจากเปิดประเทศ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย และยุโรป เป็นต้น โดยไตรมาส 2/2565 ธุรกิจโรงแรมในไทย มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 43% ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย เพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPAR) 2,213 บาท เพิ่มขึ้น 300% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ธุรกิจร้านอาหาร มีกำไรติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 8 จากการปรับตัวมุ่งพัฒนาเมนูอาหารใหม่ นำเสนอโปรโมชั่นที่สามารถกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ สร้างประสบการณ์ที่ดีและแตกต่างแก่ผู้บริโภค โดยร้านอาหารแต่ละทำเลอาจมีรูปแบบและคอนเซปต์ที่แตกต่างกัน นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับการรับออเดอร์และชำระเงิน การทำสัญญาสั่งซื้อวัตถุดิบในระยะกลางและระยะยาวโดยใช้จุดแข็งด้านปริมาณการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ปรับราคาอาหารบางเมนูที่จะไม่กระทบต่อผู้บริโภค รวมถึงมุ่งสร้างแบรนด์ให้เป็น Top of Mind ที่ผู้บริโภคนึกถึงเป็นอันดับแรก โดยร้านอาหารในประเทศไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sale) ในไตรมาส 2/2565 ที่เพิ่มขึ้น 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนร้านอาหารในประเทศจีนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ภายหลังรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ธุรกิจไลฟ์สไตล์มีผลการดำเนินงานที่ดีจากการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เน้นสาขาที่มีกำไร รวมถึงใช้กลยุทธ์ Omni-Channel ผสมผสานช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อสร้างประสบการณ์เลือกซื้อสินค้าแบบไร้รอยต่อ