นักลงทุนกระหน่ำทิ้ง SCB-KTB-KBANK ราคารูดแรงกว่าตลาด หลังเอเซียพลัสวิเคราะห์หนี้เอ็นพีแอลและสินเชื่อที่อยู่อาศัยตกชั้นเร่งตัวขึ้น ผู้ประกอบการโวยธปท.ลงโทษผิดคน แบงก์คุมสินเชื่อซ้ำเติมตลาด ส่วน PF ประกาศเปิดโครงการใหม่ส่งท้ายปลายปีอีก 9 โครงการ มูลค่า 14,316 ล้านบาท และ SC เปิด 2 โครงการ มูลค่า 2,750 ล้านบาท
ตลาดหุ้นวันที่ 26 ก.ย. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แกว่งตัวช่วงแคบๆ รอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ หากปรับขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลดีต่อกำไรของกลุ่มแบงก์ แต่หุ้นกลุ่มธนาคารกลับตกเป็นเป้าถูกทิ้ง กดดันดัชนีกลุ่มทรุดลง 1.17% หรือ 6.58 จุด ปิดที่ 553.49 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากถึง 6,649 ล้านบาท โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ทรุด 2.69% หรือ 4 บาทปิดที่ 144.50 บาท ธนาคารกรุงไทย(KTB)รูดลง 1.98% หรือ 0.40 บาท ปิดที่ 19.80 บาท และธนาคารกสิกรไทย(KBANK)ติดลบ 0.93% หรือ 2 บาทปิดที่ 213 บาท
มาร์เก็ตติงกล่าวว่า หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ถูกเทขายออกมามากอย่างชัดเจน เป็นเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ตอกย้ำเรื่องหนี้เสียในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีมากขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์ โดยเฉพาะจากบล.เอเชียพลัสออกมาเตือนให้ระวัง ยกตัวอย่าง ธนาคาร 3 แห่ง คือ SCB,KTB และ KBANK มีเอ็นพีแอลรวมหนี้ที่อยู่อาศัยตกชั้นมีอัตราเร่งขึ้นตั้งแต่ปี 2555 จนถึงครึ่งแรกของปีนี้
นอกจากนั้นจากการศึกษาข้อมูลของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 16 แห่ง บล.เอเซียพลัสยังพบว่า ในครึ่งปีแรกมียอดพรีเซล สูงถึง 1.75 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากระยะเดียวกันปีก่อน และจากเป้าหมายทั้งปีที่ 3.6 แสนล้านบาท แต่การรับรู้รายได้รวมถึงกระแสเงินสดก้อนใหญ่ จะเกิดขึ้นเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกค้า ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 2 พบว่ามียอดขายรอรับรู้หรือ Backlog มากถึง 3.32 แสนล้านบาท
ทั้งนี้การที่ Backlog จะสามารถแปลงเป็นกระแสเงินสดและรายได้ให้กับผู้ประกอบการมาหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคุณภาพของ Backlog ว่าจะโอนให้ลูกค้าได้มีประสิทธิภาพเพียงใด โดยสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการลดลงของคุณภาพ Backlog อาทิเช่น อัตราการปฎิเสธสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มบ้าน-คอนโดมิเนียม ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท แม้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าไม่น่าจะน้อยกว่า 30% รวมที่ไม่ผ่านพิจารณาอนุมัติเบื้องต้น
ส่วนดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับขึ้น ยังเป็นการเพิ่มภาระการผ่อนชำระต่องวด หากรวมกับการปล่อยสินเชื่อที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติในช่วง 1 – 3 ปีแรก เมื่อหมดช่วงเวลาดังกล่าวลง ภาระการผ่อนชำระก็จะมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ภาระการผ่อนชำระที่สูงขึ้นนอกจากเป็นที่มาของเอ็นพีแอลแล้ว ยังเพิ่มโอกาสที่ผู้กู้ใหม่จะถูกปฎิเสธการปล่อยสินเชื่อมีมากขึ้น
บล.เอเซียพลัสคาดว่า สถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการบางประเภท โดยเฉพาะรายที่มีสัดส่วนคอนโดมิเนียมระดับสูง และ จับตลาดเป้าหมายระดับกลาง-ล่าง อย่างเช่น LPN, ORI, ANAN, SENA อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผู้ประกอบการต่างปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ โดยกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มมากขึ้น จึงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย เท่ากับตลาด เน้นหุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนปันผลสูง เช่น LH, SC และ QH
ทางด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ธปท. อาจจะเข้าใจอะไรผิดบางอย่าง โดยเฉพาะการนำเอาตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลมาตีค่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ มองว่า ไม่ยุติธรรมเพราะต้องดูด้วยว่า เอ็นพีแอล ที่เกิดขึ้นเป็นการปล่อยสินเชื่อที่เกิดขึ้นในช่วงไหน เกิดจากสาเหตุอะไร เช่น ช่วงนั้นอาจจะมีการสนับสนุนบ้านหลังแรก หรือมีการเก็งกำไรอสังหาฯ หรือ ผู้กู้อาจจะมีภาระหนี้จากรถยนต์คันแรก เป็นต้น
“ปัจจุบันธนาคารก็คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ตลาดเก็งกำไรหายไปหมด แต่ธปท.กลับไปเอาตัวเลขเอ็นพีแอล จากการปล่อยสินเชื่อ เมื่อ 3 ปีแล้วมา มาคุมปัจจุบัน ถือเป็นการลงโทษผิดคน ส่วนเรื่องของดีมานด์เทียมนั้นยอมรับว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยังมีสัดส่วนที่สูง เป็นการซื้อเพื่อลงทุนและเก็งกำไรรวมกัน 30-35% แต่ปัจจุบันเหลือ 15% และเป็นการซื้อเพื่อลงทุนเกือบทั้งหมด ขณะที่ธนาคารก็เข้มงวดมากขึ้น หากธปท.มีมาตรการอะไรออกมาจะยิ่งซ้ำเติมตลาดเข้าไปอีก”นายอธิปกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบยังคงประกาศเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ( PF) ประกาศเปิดโครงการใหม่ส่งท้ายปลายปีอีก 9 โครงการ มูลค่า 14,316 ล้านบาท และบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น(SC)พร้อมเปิด 2 โครงการใหม่ มูลค่า 2,750 ล้านบาท