บลจ.กสิกรฯแนะจัดพอร์ตลงทุน Q4/65 ชู ‘หุ้นเอเชีย’ เด่น – กระจาย ‘ตราสารหนี้ไทย-ทอง’

HoonSmart.com>>”บลจ.กสิกรไทย” แนะจัดพอร์ตลงทุนไตรมาส 4/65 นักลงทุนคลายกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย หนุนตลาดหุ้นและตราสารหนี้โลกเริ่มฟื้นตัว มองตลาดยังผันผวน จากความกังวลเศรษฐกิจชะลอและปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ชี้เป้า “หุ้น” ยังลงทุนได้ เน้น selective แนะกลุ่มประเทศเอเชียน่าสนใจ ชู “จีน-เวียดนาม-ญี่ปุ่น-ไทย” มองบวกลงทุน “ตราสารหนี้ไทย” จาก Credit Risk อยู่ระดับต่ำ แนะ “ทองคำ” ติดพอร์ต 5-10% เพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่แนะเก็งกำไร​ คาดปลายปี 1,800 – 1,850 ดอลลาร์

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย แนะนำการลงทุน สำหรับไตรมาส 4 ปี 2565 หลังจากตลาดหุ้นโลกฟื้นตัวขึ้นมากว่าครึ่งทาง จากจุดต่ำสุดในช่วงกลางเดือนมิ.ย.ปีนี้ (ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวลง 22.6% ในช่วง 31 ธ.ค. 2564 – 17 มิ.ย. 2565) ก่อนที่จะปรับตัวขึ้น 12.5% ในช่วง 17 มิ.ย. – 12 ส.ค. 2565 หลังจากที่ปรับตัวลงสะท้อนความกังวลด้านการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ไปมากแล้ว โดยหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯล่าสุดในเดือนก.ค. ส่งสัญญาณว่าอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว นักลงทุนจึงคลายความกังวลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จึงเห็นการฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดตราสารหนี้โลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้เผชิญความผันผวนจากปัจจัยด้านนโยบายของ Fed เช่นกัน

อย่างไรก็ตามภาพรวมตลาดจะยังผันผวน แม้จะคลายกังวลจากเงินเฟ้อ อันสะท้อนจากราคาสินทรัพย์ที่ปรับขึ้นมาจากช่วงกลางปี แต่ปัจจัยกังวลด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรงและรวดเร็วในช่วงก่อน ประกอบกับยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่อาจกดดันเงินเฟ้อเพิ่มเติมผ่านการติดขัดในห่วงโซ่อุปทานจากมากตรการการห้ามนำเข้า/ส่งออกสินค้า ในช่วงที่เหลือของปีนี้จึงต้องจับตา พัฒนาการของเงินเฟ้อ และปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นหลัก

ระยะถัดไป หาก Fed จะเริ่มชะลอการดำเนินนโยบายการเงินแบบรวดเร็วและรุนแรง นักลงทุนจะกลับไปให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ตัวเลขผลประกอบการ และแนวโน้มธุรกิจ (Forward guidance) ท่ามกลางความผันผวนที่ยังปกคลุมจากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับแนวโน้มการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่อาจถูกปรับลดลงเพิ่มเติมในอนาคต

บลจ.กสิกรไทย มองหุ้นยังลงทุนได้ แต่ต้อง selective ในภูมิภาคที่ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจยังผ่อนคลาย พร้อมสนับสนุนการเติบโต รวมถึงมีปัจจัยสนับสนุนด้านราคาจากการที่ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยระยะยาว ซึ่งเป็นโอกาสในการทยอยเข้าสะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยประเทศที่เรายังแนะนำได้แก่ กลุ่มเอเชีย ที่มีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากการเปิดเมือง บวกกับมีแรงผลักดันจากนโยบายภาครัฐซึ่งสวนทางกับฝั่งสหรัฐฯและยุโรปที่ใช้นโยบายตึงตัวขึ้น​

สำหรับคำแนะนำการลงทุนในหุ้น สำหรับภูมิภาคเอเชีย

ประเทศจีน : ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนคลาย ประกอบกับการจัดการกับโควิดมีความยืดหยุ่นขึ้น จะสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
ประเทศเวียดนาม : พื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และมีอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่โดดเด่น
ประเทศญี่ปุ่น : ยังไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ และการเริ่มเปิดประเทศจะสนับสนุนการปรับขึ้นคาดการณ์กำไร
ประเทศไทย : การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หนุนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นฟื้นตัว

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯระยะยาวในระยะข้างหน้านี้ จะยังคงได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายตึงตัวของ Fed ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุล จึงจะยังมีความผันผวนอยู่ ขณะที่ฝั่งไทย แม้กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 1 ครั้ง แต่น่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และน่าจะปรับขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าสหรัฐฯ เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยยังล่าช้ากว่า

โดย consensus ตลาดคาดว่าปีนี้ กนง. จะปรับขึ้นไปที่ 1.00-1.25% และปีหน้าไปหยุดที่ 2.00-2.25% นอกจากนี้ ตลาดตราสารหนี้ไทย (Yield Curve) สะท้อนโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในช่วง 1 ปีข้างหน้าไปที่ระดับประมาณ 2.00% แล้ว ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป จะส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้จำกัด อีกทั้งภาพรวมด้าน Credit Risk ตลาดตราสารหนี้ไทยยังอยู่ในระดับต่ำ จึงยังมีมุมมองบวกต่อการลงทุนในตราสารหนี้ไทย

สำหรับคำแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก แนะนำให้มีทองคำติดพอร์ต 5-10% เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง แต่ไม่แนะนำลงทุนเพื่อเก็งกำไร

บลจ.กสิกรไทย มองทองคำจะยังคงเคลื่อนไหวผันผวนตามดอลลาร์สหรัฐ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยทองคำจะน่าสนใจขึ้นเมื่อโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยมีเพิ่มขึ้น รวมถึงหลังจากแรงกดดันในการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed คาดว่าจะลดลงในระยะถัดไป จากการผ่านจุดสูงสุดต่อความกังวลของเงินเฟ้อไปแล้ว

ทั้งนี้ เรามองกรอบราคาปลายปีนี้ทองคำที่ 1,800 – 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนะนำมีติดพอร์ต 5-10% เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง แต่ไม่แนะนำลงทุนเพื่อเก็งกำไร เนื่องจากมองกรอบล่างที่ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากความผันผวนของเงินเฟ้อหากมีการทำจุดสูงสุดใหม่

ส่วนน้ำมัน มองกรอบราคาปีนี้ที่ 80 -115 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ความยืดเยื้อของสงครามรัสเซียกับยูเครน ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันในช่วง High season ในช่วงปลายปี จะทำให้ราคายังยืนอยู่ในกรอบนี้ได้ แต่ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัว และการที่ประเทศต่างๆหันมาพึ่งพาพลังงานทดแทน จะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงไปสู่ราคาตามปัจจัยอุปสงค์อุปทานที่กรอบ 80 – 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า​