บลจ.ไทยพาณิชย์ มองหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ทั่วโลกยังน่าสน ลงทุนได้ระยะยาวรับสังคมสูงวัยทั่วโลกเติบโต ค่าใช้จ่ายค่ายาพุ่ง แม้ราคาผันผวนตามนโยบายทรัมป์ ชู 2 กองทุน SCBGHC และ SCBRMGHC ผลงานเด่นปีนี้ผลตอบแทน 14.12% และ 13.64% ตามลำดับ
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนระยะยาว เนื่องจากสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีท่ามกลางสถานการณ์การลงทุนที่มีความผันผวนสูง โดยบลจ.ไทยพาณิชย์ ได้มีการลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์อยู่ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลเฮลธ์แคร์ (SCB GLOBAL HEALTHCARE EQUITY FUND : SCBGHC) โดยมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 14.12% และย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 12.79% และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลเฮลธ์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCB GLOBAL HEALTHCARE RMF: SCBRMGHC) มีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 13.64% และย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 12.35% ซึ่งดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานของทั้งสองกองทุนที่มีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 11.21% และย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 11.99% (ข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน 2561)
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ และบริการด้านสาธารณสุข รวมถึงธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพได้รับประโยชน์จากมูลค่าพื้นฐานที่ปรับตัวลดลง และความกังวลด้านราคายาในสหรัฐฯ ที่เริ่มคลี่คลาย เช่นเดียวกับการปรับตัวดีขึ้นในดัชนี MSCI World Health Care ซึ่งถือเป็นดัชนีอ้างอิงของกองทุน ส่งผลให้กองทุนเฮลธ์แคร์ทั้ง 2 กองทุนมีผลดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่ผ่านมาได้มีการจ่ายปันผลกองทุน SCBGHC สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2560 – 31 สิงหาคม 2561 ในอัตราหน่วยละ 0.2096 บาท
สำหรับกองทุน SCBGHC และ กองทุน SCBRMGHC มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ Janus Global Life Sciences Fund (กองทุนหลัก) เป็นกองทุนที่มีการบริหารเชิงรุก โดย Janus Capital Management LLC จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศไอร์แลนด์และอยู่ภายใต้ UCITS ลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (Life Sciences) ได้แก่ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย พัฒนา ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลตัวเอง การแพทย์หรือเภสัชกรรม รวมไปถึงบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตหลักมาจากผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การจดสิทธิบัตร หรือตลาดอื่นใดที่ได้รับประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต
โดยปัจจุบันกองทุนหลัก Janus Global Life Sciences Fund มีจำนวนหลักทรัพย์ในพอร์ตประมาณ 70 – 100 ตัว กระจายไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่เกี่ยวข้องในหลากหลายมูลค่าตลาด เช่น ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ยาและเภสัชกรรม บริการด้านสาธารณสุข และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น ซึ่งมีการคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุนโดยพิจารณาจากปัจจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณของหุ้นบริษัทในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเฮลธ์แคร์ทั่วโลก
“ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ได้รับแรงกดดันมาโดยตลอดจากแผนการกำหนดเพดานราคายา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ในช่วงกลางปี 2018 ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดของแผนการนี้ซึ่งไม่ได้แย่อย่างที่ตลาดคาดไว้ จึงทำให้ตลาดผ่อนคลายความกังวลนี้ลงไปบ้าง อย่างไรก็ตามปัจจัยกดดันดังกล่าวยังคงจะไม่มีความชัดเจนในเวลาอันใกล้และสร้างความผันผวนให้กับราคาหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ โดยเฉพาะกลุ่ม pharmaceuticals และ biotech ไปจนถึงอย่างน้อยในช่วงเลือกตั้งกลางสมัย (midterm elections) ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.ปีนี้” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม บลจ.ไทยพาณิชย์ มองว่าหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ทั่วโลกยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว เนื่องจากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุว่าสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 ในปี 1950 เป็นร้อยละ 17 ในปี 2050 ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ที่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพสูงกว่ากลุ่มอื่นกว่า 3 เท่า ขณะที่นวัตกรรมทางการแพทย์และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทมียอดขายและบริการทางการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง