HoonSmart.com>>บล.ทรีนีตี้ มองหุ้นไทยน่าลงทุน เชื่อเม็ดเงินทุนต่างชาติยังไหลเข้าต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับเป็นบวกในปลายปี GDP ปี66 โต 4% กำไรต่อหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้น เล็งปรับเพิ่มเป้าดัชนีที่ 1,690 จุด อิง EPS ที่ 106.5 บาทโชว์ 4 ธีม น่าลงทุน ธีมที่ 1 บริษัทที่ได้ประโยชน์จากเปิดเมือง ท่องเที่ยว, ธีมที่ 2 ได้ประโยชน์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง เน้นกลุ่มโรงไฟฟ้า, ธีมที่ 3 หุ้นปันผลสูง และธีมที่ 4 บริษัทได้ดีดอกเบี้ยขาขึ้น
ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ กล่าวเชื่อมั่นว่า เม็ดเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) จะยังไหลเข้าไทยต่อเนื่อง เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ติดลบ 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือนเม.ย.-พ.ค.จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น และนักท่องเที่ยวน้อย จะกลับเป็นบวกในปลายปีนี้ (2565) และเศรษฐกิจไทย (GDP) จะเติบโต 4% ในปี 2566 นอกจากนี้ EPS ก็อยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งรอบนี้คาดว่าจะขึ้นแรงถึง 101-102 บาทในปีนี้ จากเมื่อต้นปีที่ EPS อยู่ที่ 92 บาท รวมทั้งจะเห็นได้ว่าเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นใกล้เคียงกับตลาดพันธบัตรในเดือนส.ค. ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเม็ดเงินลงทุนจากไต้หวันที่โยกเข้ามาในไทยด้วย หลังมีความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน และไต้หวัน สำหรับปัจจัยการเมืองยังมองว่ามีผลต่อตลาดน้อย
ปีนี้มองเป้าหมายดัชนีอยู่ที่ 1,690 จุด อิงอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2566 ของตลาดที่ 106.5 บาท และ Forward PE (X) ที่ 15.9X และมีโอกาสที่จะปรับเป้าหมายดัชนีขึ้น เพราะ EPS มีโมเมนตัมเป็นบวกจากการปรับเพิ่มของกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อีกทั้ง นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกให้ผลตอบแทนติดลบตั้งแต่ -1.8% ถึง -50% แต่ตลาดหุ้นไทยยัง Outperform ตลาดหุ้นโลก
ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความกลัวเศรษฐกิจถดถอยยังมีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้าไทยในเดือนสิงหาคม ซึ่งถือเป็น Renewed ของฟันด์โฟลว์หรือฟันด์โฟลว์รอบใหม่ โดยตั้งแต่ต้นเดือนมีนักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับเป็นฝ่ายซื้อสุทธิในตลาดหุ้นกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตรกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดทุนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากหลายวิกฤต เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 เงินเฟ้อที่พุ่งแรงทั่วโลก เศรษฐกิจโลกถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และความตึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ และขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังพัฒนาจากภาวะ“ความกลัวเงินเฟ้อ (Inflation Fear)” มาสู่ภาวะ “ความกลัวเศรษฐกิจถดถอย (Recession Fear)” จากการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงของประเทศสหรัฐฯ จีน และกลุ่มประเทศยุโรป
นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มมีนโยบายลดความรุนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย (Less Hawkish) นำไปสู่การทำกำไรของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และภายหลังจากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5-0.75% ในเดือนกันยายนนี้ อาจจะทำให้เกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ในส่วนของมุมมองด้านเงินเฟ้อ มองว่าเงินเฟ้อทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย อาจจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 3 ปีนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ผ่านจุดสูงสุด (Peak) ไปแล้ว และคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของประเทศไทย จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 0.25% ต่อครั้ง คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ใน 12 เดือนข้างหน้าสู่ระดับ 1.5% ในกลางปี 2566 แต่ก็ยังถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3% ในเดือนกรกฎาคม 2565 และการที่ค่าแรงขั้นต่ำมีโอกาสปรับขึ้นได้ 5-8% ทำให้ Core Inflation มีโอกาสสูงกว่าที่เป้าหมายธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 1-3%
“เดือนส.ค.ปีที่แล้วเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก แต่ส.ค.ปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อไทยจะพุ่งขึ้นมาถึง 8-9%”
ในส่วนของมุมมองด้านค่าเงินบาท มองว่านับตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในสกุลเงินอาเซียน โดยแข็งค่าขึ้นกว่า 4% และคาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงของเงินทุนไหลออกจากนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากการส่งออกเงินปันผลของนักลงทุนต่างประเทศช่วงเดือนกันยายน 2565 ประกอบกับ Fed อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 0.5%
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยมองการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบสูงสุดในไตรมาส 3 ของปี 2565 และจะปรับขึ้นเป็นบวกระดับ 4% ของ GDP ในปี 2566 (เปรียบเทียบ+10% ของ GDP ในช่วงก่อน เกิดโควิด) คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 3% ของ GDP ในไตรมาส 3 และเป็น 5% ของ GDP ในไตรมาส 4 และอาจเพิ่มเป็น 7% ของ GDP ในไตรมาส 1 ปี 2566 ขณะที่การเติบโตของฐานเงินอย่างกว้างหรือ M2 เพิ่มขึ้น 6.20% ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดที่เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปี บ่งบอกถึงสภาพคล่องเริ่มดีขึ้น
ดร.วิศิษฐ์ แนะนำให้นักลงทุนจัดสรรเงินลงทุนในสถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤต (Asset Allocation) ในช่วงที่เหลือของปี 2565 โดยสินทรัพย์ที่แนะนำลงทุน ได้แก่ ตลาดหุ้นไทย 25% ตลาดหุ้นเวียดนาม 10-15% ตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว 10% ตราสารหนี้โลก 25% ทองคำ 5% Weighting ในกลุ่มน้ำมัน และ Commodity 5% และถือเงินสด 15-20% เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงยังไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ยังไม่คาดการณ์
พร้อมแนะนำให้เพิ่มน้ำหนัก หรือให้น้ำหนักมากกว่าตลาด ในกลุ่มหุ้นที่เป็น Thematic Play 4 ธีมหลัก ได้แก่
ธีมที่ 1 บริษัทที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง (reopening) และการท่องเที่ยว มองว่าประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางออกนอกประเทศได้ใน 3-12 เดือนข้างหน้า แนะนำ ERAWAN, AOT, CENTEL แต่เมื่อไรที่จีนเปิดประเทศจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไทยมากขึ้น ซึ่งหุ้นที่่น่าสนใจเป็นหุ้น CPALL และกลุ่มสื่อสาร
ธีมที่ 2 บริษัทที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า
ธีมที่ 3 หุ้นปันผลสูงเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ (Inflation hedge ) อย่างหุ้น BCP, ESSO, SPRC, TISCO, BANPU, TOP, TCAP เป็นต้น
ธีมที่ 4 บริษัทได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ กลุ่มธนาคาร แต่การส่งผ่านการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ในรอบเศรษฐกิจนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยลง