“อัสสเดช คงสิริ” เปิด 3 กลยุทธ์ 3 โครงการ ดึงเงินเข้าตลาดหุ้น-จ่อ IPO บอนด์-หนุน M&A

HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชูแผน 3 ปี ภายใต้ 3 กลยุทธ์ ผ่าน 3 โครงการหลักจ่อ IPO พันธบัตร-หนุนควบรวมเพิ่มความใหญ่-สร้างตลาดเทรดคาร์บอนเครดิต สร้างโอกาสการเข้าถึงการลงทุน-การระดมทุนอย่างเท่าเทียมทั่วถึง แจงข่าวบจ.ดังถูกสอบ เน้นความรวดเร็วในการชี้แจงข้อมูล

“ก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยการมุ่งสร้างโอกาสการเติบโตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ผ่านนวัตกรรมและบริการที่ตอบโจทย์ทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุนและเศรษฐกิจไทย สอดรับกับเป้าหมาย ‘To Make the Capital Market Work for Everyone’” นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2568-2570)

นายอัสสเดช กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี เริ่มจากปี 2568-2570 จะใช้ 3 กลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนตลาดทุน เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม (Fair & Inclusive Growth) มุ่งสร้างความแข็งแกร่งเข้าถึงได้ง่ายและสร้างประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน สร้าง Magnet ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน พร้อมปรับตัวท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและตลาดทุนโลก

 1. มุ่งมั่นเพื่อโอกาสการเติบโต (Enable Growth Ambitiously)
2. ร่วมพัฒนา เพื่อความทั่วถึง (Grow Together & Inclusively)
3. สรรสร้างคนและอนาคต (Groom People & Our Future)

ทั้งนี้ มี 3 โครงการหลักที่จะขับเคลื่อนตลาดทุนตามแผน 3 ปี ประกอบด้วย
1.โครงการ Jump+ สนับสนุนบริษัทจดทะเบียนให้เติบโต
2.โครงการ Bon Connect Platform เพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลและประชาชนทั่วไปเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น และขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาด
3.โครงการ Carbon Market Platform พัฒนาระบบนิเวศคาร์บอนผ่านตลาดคาร์บอนเครดิต

สำหรับกลยุทธ์ที่ 1. มุ่งมั่นเพื่อโอกาสการเติบโต (Enable Growth Ambitiously) ด้วยการเพิ่มความน่าสนใจด้านบริษัทจดทะเบียน ด้วยโครงการ “Jump+” ที่จะทำการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยเน้นบริษัทที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มมูลค่าของบริษัท


ตลาดหุ้นไทย มีบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าได้มากกว่า 50% เช่น บริษัทที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน บริษัทที่รายได้เติบโต กำไรดี บริษัทที่มีปันผลดี สามารถขยายธุรกิจได้ ให้ทำแผนธุรกิจ ทำการขยายธุรกิจ หรือ การควบรวมกิจการ เป็นกลไกสำคัญในการสร้างศักยภาพการเติบโตที่ก้าวกระโดด และความได้เปรียบจากขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นมีความสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน ในการสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

“แต่ละบจ.มีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจที่แตกต่างกัน จะเข้าไปช่วยในจุดที่เขาขาดแคลน เมื่อทำแล้วต้องเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ไม่ใช่ดีขึ้นระยะสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งเฟรมเวิร์คจะให้แล้วเสร็จในปีนี้ จะได้เริ่มโครงการ Jump+ ในปีหน้า และสื่อสารให้ผู้ลงทุนทราบ เรื่องนี้ไม่ได้บังคับ ให้เข้าร่วมตามความสมัครใจ ซึ่งเราอยู่ระหว่างกำหนดรายละเอียดของวิธีการทำ ระยะเวลา และการทำให้บรรลุแผน “นายอัสสเดช กล่าว

นายอัสสเดช กล่าวว่า เน้นสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการด้านการดำเนินงาน การขับเคลื่อนความยั่งยืนตามหลัก ESG การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริการให้คำปรึกษา และเพิ่มช่องทางสื่อสารกับผู้ลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และการรับรู้ให้แก่ผู้ลงทุน รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานพันธมิตร

นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาดัชนีใหม่ที่จะช่วยสะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ Jump+ และร่วมกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดทำบทวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุน

สร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น    ด้วยการนำ AI มาใช้ในงานด้านกำกับบริษัทจดทะเบียน เพื่อติดตามเฝ้าระวัง ดำเนินมาตรการ และแจ้งเตือนแก่ผู้ลงทุนอย่างทันท่วงที พร้อมขยายองค์ความรู้ด้านบรรษัทภิบาล (corporate governance) สร้างความเข้าใจกลไกตลาดทุนแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการประเมินประสิทธิผล และทบทวนมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน

ข่าวผู้บริหารบจ.ดังถูกสอบ
 

กรณีที่มีข่าวผู้บริหารดังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ถูกกล่าวโทษ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯพยายามที่จะให้มีข่าวสารและคำชี้แจงจากบริษัทฯ ออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อให้นักลงทุนได้ข้อมูลเร็วที่สุด

“ในภาพรวมการกำกับดูแล ภายใต้อำนาจที่เรามี เราดูที่พฤติกรรม เราก็ส่งข้อมูลไปให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ข้อมูลก็จะถูกส่งต่อไปยัง ปปง. ตำรวจ ดีเอสไอ อัยการซึ่งการวิเคราะห์ มุมมอง และการเข้าถึงข้อมูลนั้นๆ ของแต่ละหน่วยงานไม่เหมือนกัน ซึ่งแหล่งที่มาของข้อมูลก็ไม่เหมือนกัน มาจากธนาคาร มาจากธุรกิจหลักทรัพย์ และการสื่อสาร เป็นเรื่องของจิตสำนึกที่ดี ที่ทางเราทำมาอย่างต่อเนื่องเรื่องธรรมาภิบาล ความรวดเร็วในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำให้คนไม่กล้าทำ ซึ่งเราไม่อยากให้เขาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว และการจัดการที่รวดเร็วขึ้น แสดงให้เห็นว่าเรากำกับเข้มงวดจริง”นายอัสสเดช กล่าว

นายอัสสเดช กล่าวว่า ด้านการส่งเสริมและขยายการใช้ผลิตภัณฑ์ตลาดทุน นำเสนอข้อมูลและบริการที่ตอบโจทย์รองรับผู้ลงทุนที่หลากหลายและแตกต่าง พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการบริหารพอร์ตและการลงทุนทุกสถานการณ์ และขยายเวลาซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ควบคู่กับการดึงดูดผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ผ่านการนำเสนอข้อมูล (roadshow) ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

“เราพบว่า ตะวันออกกลาง ต้องการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เป็นชาริอะฮ์ อีกมาก ที่เราต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไร”นายอัสสเดช กล่าว

กลยุทธ์ที่ 2 ร่วมพัฒนา เพื่อความทั่วถึง (Grow Together & Inclusively) ผ่านโครงการ Bond Connect Platform เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกและตลาดรองได้ง่ายขึ้น โดยผู้ลงทุนบุคคลสามารถจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกในลักษณะเดียวกับการจองซื้อหุ้น IPO และยังสามารถซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองผ่าน Platform พร้อมทั้งสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันสำหรับการลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นได้ด้วย

ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะให้ความรู้เรื่องการลงทุนเบื้องต้นผ่านสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยจะเริ่มกับพันธบัตรออมทรัพย์ที่ทางกระทรวงการคลังออกมาขายให้นักลงทุนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาพอออกปุปจะขายหมดเร็วมาก ตลาดหลักทรัพย์ฯจะพยายามที่จะหามาให้นักลงทุน แต่วิธีการให้ได้มายังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การทำโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหนึ่งในโครงสร้างดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ใหม่ (SET Clear) กำหนดเริ่มให้บริการในปี 2570 และขยายความร่วมมือในรูปแบบ IT service partnership อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ร่วมตลาด

“เช่นการปรับระบบชำระเงินจาก T+2 ไปเป็น T+1 เพื่อให้เชื่อมโยงกับตลาดทุนอื่นได้ โดยประเทศที่ใช้ T+1 แล้วมี สหรัฐอเมริกา อินเดีย แม็กซิโก และประเทศที่เชื่อมกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในส่วนของไทยจะทำการปรับพร้อมๆกับตลาดหุ้นในอาเซียน แต่ก่อนจะใช้จะมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี เช่นช่วงปรับจาก T+3 เป็น T+2 มีการแจ้งล่วงหน้า 18 เดือน”นายอัสสเดช กล่าว

นายอัสสเดช กล่าวว่า เน้นขยายการสื่อสารแก่ผู้ลงทุนและประชาชน ที่เข้าถึง ทั่วถึง สร้างความเข้าใจในประเด็นที่ผู้ลงทุนควรรู้แบบเข้าใจง่ายและทันการณ์ ผ่านช่องทางใหม่ๆ ด้วยสื่อ และกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน พร้อมเตือนประชาชนให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพหลอกลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ  

ด้านกลุทธ์ที่ 3 สรรสร้างคนและอนาคต (Groom People & Our Future) ผ่านโครงการ Carbon Market Platform การสร้างตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในตลาดภาคบังคับ (Compliance market) และภาคสมัครใจ (Voluntary market) พัฒนาเครื่องมือในการคำนวณ Carbon Footprint ขององค์กร (SET Carbon) พร้อมสนับสนุนการสร้างหลักสูตรและจัดสอบผู้ทวนสอบ (Verifier) เพื่อส่งเสริมการมุ่งสู่ Low Carbon Economy  และ Net Zero ในปี 2593  

ปัจจุบัน มี 200 บริษัทจดทะเบียนที่มีการรายงานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และมี 60 บริษัท ที่มีการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต หนึ่งในเหตุผลคือขาดแคลนบุคลากรด้านการตรวจสอบ หรือ Carbon Audit ทั้งประเทศมีเพียง 155 คนเท่านั้น และเครื่องมือในการตรวจปริมาณคาร์บอนมีราคาแพง ซึ่งกำลังปรับปรุงเครื่องคำนวณปริมาณคาร์บอนให้เหมาะกับแต่ละสาขาอุตสาหกรรม และจะร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและแก้ปัญหาต่อไป

นอกจากนี้ จะพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ทางการเงิน สร้างคนรุ่นใหม่ (Next Gen) ประกอบด้วย ผู้ลงทุน  ผู้ประกอบวิชาชีพ ภาคการศึกษา และ Influencer ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน การลงทุน

พร้อมทั้งนำเสนอ SET Learn Scape Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับกระบวนการการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลเพื่อพัฒนาบุคลากรบริษัทจดทะเบียน ช่วยสร้างศักยภาพพนักงาน เสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ทั้ง 2 โครงการจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอเนื้อหาความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายมีภูมิคุ้นกันด้านการเงินและการลงทุน เตรียมพร้อมคน ปรับวิถีงาน ตอบโจทย์อนาคต เสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ AI แก่พนักงาน เตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรทุกระดับ ขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคต