แบงก์อุ้มลูกค้า ชะลอขึ้นดอกกู้ เน้นกลุ่มเปราะบาง ประคอง NPLs

HoonSmart.com>> กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ 0.75% ตามคาด สมาคมธนาคารไทยรับลูก ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยเหลือลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ประคอง NPLs ไหว ดอกเบี้ยจะขึ้นตามกลไกตลาด ไม่ว่ากันหากแบงก์ไหนชิงตัดหน้า ต้นทุน-ฐานลูกค้าต่างกัน EXIM BANK ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสุดในระบบให้นานที่สุด ธอส.ลั่นตรึงถึงสิ้นปี 65  เงินบาทแข็งค่าลดแรงกดดันธปท.ใช้ยาแรง

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย แถลง”นโยบายช่วยลูกหนี้” ภายหลังจากกนง.มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ตามคาด ว่า สมาคมธนาคารไทย และสมาชิกสรุปว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้จะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ สร้างรายได้สมดุลกับรายจ่ายมากขึ้น โดยสมาคมให้ความสำคัญกับความเหมาะสมของลูกค้าเงินฝากและเงินกู้ ไม่ให้สดุดกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันต้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด หากมีรายได้ ก็ต้องรับความเสี่ยง  จึงต้องระมัดระวังการช่วยเหลือ ไม่ให้เหมาเข่ง มิเช่นนั้นจะกระทบถึงเงินฝาก

“ลูกค้ารายใหญ่จะยอมรับผลสะท้อนความเป็นจริงได้มาก ส่วนรายย่อย เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต เช่าซื้อ และที่อยู่อาศัย ต้องดูแล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แต่ละธนาคารจะจัดทำทางเลือกลูกค้าแต่ละกลุ่ม ให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย  จะต้องมีการใช้มาตรการแก้หนี้อีกหลายครั้งอย่างยั่งยืน ต้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด หากมีรายได้ ก็ต้องรับความเสี่ยง เราต้องระมัดระวังการช่วยเหลือ  ไม่ให้เหมาเข่ง มิเช่นนั้นจะกระทบถึงเงินฝาก “นายผยงกล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าเปราะบางในระบบสถาบันการเงิน ณ สิ้นเดือนพ.ค. 2565 มีจำนวน 1.6 ล้านบัญชี รวมเป็นเงิน 2.2 ล้านล้านบาท  และมีอีก 3.2 แสนล้านบาท ปล่อยซอฟท์โลน เชื่อว่าระบบจะช่วยประคับประคอง NPLs ได้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการผ่อนค่างวดคงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่มาก

ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้จะปรับขึ้นเมื่อไรนั้น นายผยงกล่าวว่า จะเป็นไปตามสัญญาณของตลาดการเงิน แต่หากธนาคารไหนปรับขึ้นก่อน ก็มีเหตุผลของแต่ละแห่ง เนื่องจากมีต้นทุน และฐานลูกค้าแตกต่างกัน  สุดท้ายแล้วดอกเบี้ยที่เหมาะสมของไทยควรจะอยู่ที่ใด  จะต้องรอสัญญาณจากธปท. ซึ่งในปีนี้จะมีการประชุมกนง.อีก 2 ครั้ง ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ครั้งนี้ 0.25% เป็น 0.75% ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์  เทียบกับในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.25% การถอนคันเร่ง เพื่อให้กลไกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 10 ส.ค.2565 คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 1 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ต่อปี

เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง คณะกรรมการฯ ประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ เพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 จึงมีความจำเป็นลดลง โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ ส่วนกรรมการ 1 ท่านเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ต่อปี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยประเมินว่าจะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่บางกลุ่มยังเปราะบางโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายแต่มีความผันผวนสูง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. เป็นหลัก จากความกังวลต่อสินทรัพย์เสี่ยงภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมีความจำเป็นลดลง และเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า