IFA แนะผู้ถือหุ้น BYD ไฟเขียวเพิ่มทุน-ซื้อกิจการ

HoonSmart.com>>”สยาม อัลฟา แคปปิตอล” ที่ปรึกษาการเงินอิสระ BํYD ไฟเขียวเพิ่มทุนเฉพาะเจาะจง , การให้กู้ยืมเงิน “ไทยสมายบัส” ขยายธุรกิจรถบัสไฟฟ้าสาธารณะให้บริการทั่วกรุงเทพ-ปริมณฑล

ติงราคาซื้อกิจการ 2 บริษัท ” EXA-RJR” มูลค่า 200 ล้านบาท แนะต่อราคาซื้อ เปิดรายชื่อนักลงทุนพีพี กลุ่ม EA ซื้อ 75% ของหุ้นเพิ่มทุน 1,313 ล้านหุ้น , บิ๊ก PLANB 5.39% และ “ลุชัย ” 19%

บริษัท สยามอัลฟา แคปปิตอล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการเงินอิสระ (IFA) ของบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ (BYD) ให้ความเห็นการทำรายการเพิ่มทุน จำนวน 1,313 ล้านหุ้น คิดเป็น 31.32% ของทุนจดทะเบียน ราคาเสนอขาย 7.062 บาท โดยเสนอขายให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย

บริษัท อีเอ โมบิลิตี้ โฮลดิง (EMH) จำนวน 990.80 ล้านหุ้น หรือ 75.46% ของจำนวนหุ้นเพิ่มทุน , นายปริญทร์ โลจนะโกสินทร์ จำนวน 70.77 ล้านหุ้น หรือ 5.39% และนายลุชัย ภุขันอนันต์ จำนวน 251.43 ล้านหุ้น หรือ 19.15%

ที่ปรึกษาการเงิน พิจารณาข้อดี ข้อด้อย ข้อเสี่ยงการเพิ่มทุน PP มีความเห็นว่า การเข้าทำรายการเป็นผลดีกับผู้ถือหุ้นและบริษัท มากกว่าผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดย BYD คาดว่า จะได้รับดอกเบี้ยในจำนวน 2,718.19 ล้านบาท (โปรดดูรายละเอียดตารางชำระหนี้เพิ่มเติมในส่วนที่ 2 ข้อ 2.2.9.)

อีกทั้งจะเริ่มได้รับเงินปันผลจาก ACE จำนวน 200.64 ล้านบาท ในปี 2574 จากการที่ BYD จะมีเงินทุนเพียงพอต่อการขยายกิจการของ ไทยสมายล์บัส (TSB ) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของ BYD ในระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงมีนักลงทุนที่มีศักยภาพในการช่วยส่งเสริมเกื้อกูลธุรกิจของ TSB ทำให้ TSB มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้ BYD ได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดี

อย่างไรก็ตาม BYD จำเป็นต้องกำหนดมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานที่ BYD ได้เปิดเผยไว้สำหรับการเข้าทำรายการในครั้งนี้ เพราะฉะนั้นแล้ว การเข้าทำรายการดังกล่าวจึงมีความสมเหตุสมผล

ความสมเหตุสมผลของธุรกรรมการให้เงินกู้ยืมแก่ TSB จำนวน 8,550 ล้านบาท  โดยมีหุ้นสามัญจำนวน 45.696 ล้านหุ้น และหุ้นบุริมสิทธิ์จำนวน 0.357 ล้านหุ้น ของ ACE ที่นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ถืออยู่ทั้งหมดเป็นหลักประกัน

ทั้งนี้ BYD มีความจำเป็นในการให้เงินกู้ยืมแก่ TSB เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจของ TSB ซึ่งเงินกู้ยืมดังกล่าว TSB มีแผนในการลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามใบอนุญาตประกอบการขนส่งและเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

ความสมเหตุสมผลของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ TSB เป็นอัตราที่สูงกว่าทุกข้อมูลที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระนำมาเปรียบเทียบ แสดงถึงว่าอัตราดังกล่าวสูงกว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อัตราผลตอบแทนโดยทั่วไป และอัตราผลตอบแทนของ BYD ในอดีต ดังนั้น ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระจึงเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวมีความเหมาะสมสำหรับ ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีข้อสังเกตว่าอัตราดอกเบี้ย MLR ของ BBL เป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย 4 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่อยู่เล็กน้อย รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 7.00 ต่อปี อาจทำให้ BYD เสียโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น หากอัตราดอกเบี้ย MLR ของ BBL สูงกว่าร้อยละ 5.50 ต่อปี โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมองว่ามีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจะปรับตัวเพิ่มขึ้น (โปรดดูรายละเอียดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในส่วนที่ 2 ข้อ 2.2.8.3)

หาก BYD สามารถต่อรองเพื่อ ยกเลิกเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 7.00 ต่อปี จะทำให้ BYD ลดความเสี่ยงจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

สรุปความสมเหตุสมผลของการทำรายการ “การให้เงินกู้ยืมแก่ TSB” เมื่อพิจารณาข้อดี ข้อด้อย และความเสี่ยงในการทำรายการให้เงินกู้ยืมแก่ TSB ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นว่าการเข้าทำรายการเป็นผลดีกับ BYD และ ผู้ถือหุ้นของ BYD มากกว่าผลกระทบหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

จากการที่ BYD จะให้เงินกู้ยืมแก่กิจการที่ BYD จะสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและสามารถคาดการณ์ว่า จะสร้างผลกำไรที่ดีในอนาคต รวมถึงช่วยสร้างโอกาสให้ TSB มีศักยภาพในการแข่งขันและคาดว่าจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีให้กับ BYD ได้ในอนาคต ดังนั้น การเข้าทำรายการดังกล่าวจึงมีความสมเหตุสมผล

ส่วนความสมเหตุสมผลของแผนการเข้าลงทุนซื้อกิจการ บริษัท เอ็กซา โลจิสติก  (EXA) และ ราชา โร้ด (RJR)  มูลค่ารวมไม่เกิน 200.00 ล้านบาท ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระได้จัดทำประมาณการกระแสเงินสดของธุรกิจ EXA และ RJR เพื่อประเมินมูลค่ากิจการและศึกษาความคุ้มทุนในการลงทุน ซึ่งที่ปรึกษาทางการเงินอิสระประเมินมูลค่า EXA และ RJR เห็นว่า อยู่ในระดับที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจาก สูงกว่ามูลค่าที่ที่ปรึกษาทางการเงินประเมินได้

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ มีความเห็นว่า การเข้าลงทุนใน EXA และ RJR เป็นการได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบการขนส่ง จำนวน 6 เส้นทาง ในขณะที่ TSB จะต้องลงทุนหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ EXA และ RJR เพื่อจัดหา E-Bus สำหรับเดินรถใน 6 เส้นทางดังกล่าว

การซื้อหุ้นในมูลค่าดังกล่าวพร้อมกับการลงทุนเพิ่มเติมจึงทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน หาก TSB ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ขายจึงควรต่อรองราคาเพื่อให้ได้ราคาที่เกิดความคุ้มค่าและผลตอบแทนที่ดีในการลงทุน

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนและลงทุนของ BYD เป็นการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่เป็นแนวโน้มธุรกิจโลก (Global Trend) และเป็นไปตามนโยบายของรัฐในปัจจุบัน แนวโน้มธุรกิจทั่วโลก (Global Trend) มีความตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งมาตรการภาษี มาตรการเงินส่วนลดยานยนต์ไฟฟ้า มาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมถึงขอความร่วมมือหน่วยงานราชการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ดังนั้น การเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ของ TSB ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อการดำเนินธุรกิจด้านรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าและเรือไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับกระแสธุรกิจในอนาคตกับแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้คนได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคจึงมีแนวโน้มที่จะหันมาเลือกใช้บริการรถโดยสารและเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แสดงถึงโอกาสในการเติบโตของรายได้ที่มากขึ้นและโอกาสในการสร้างมูลค่าของ TSB ให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

สำหรับแผนการใช้เงินของ TSB ดังนี้

1) เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ อีทรานสปอร์ โฮลดิ้ง (ETH )  จากอีเอ โมบิลิตี้ โฮลดิง (EMH) ซึ่ง EMH ถือหุ้นETH 100%  และ EMH เป็นบริษัทย่อยที่ EA ถือหุ้น 100% มูลค่าเงินลงทุน 6,000 ล้านบาท

2) จัดซื้อ E-Bus บางส่วนสำหรับเส้นทางที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งของ TSB และบริษัทย่อย มูลค่า 2,000 ล้านบาท

3) ซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เอ็กซา โลจิสติก จำกัด (“EXA”) และบริษัท ราชาโร๊ด จำกัด (“RJR”) ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในอีก 6 เส้นทาง มูลค่า 200 ล้านบาท

4) ลงทุนในโครงการระบบตั๋วร่วมอิเล็กทรอนิกส์ (Single Network – Single Price – Single Management Project) มูลค่า 200 ล้านบาท

5) ลงทุนในการสร้างอู่จอดรถ สำนักงาน และงานดูแลรักษา 100 ล้านบาท และ 6 เงินทุนหมุนเวียนสำรอง 50 ล้านบาท