HoonSmart.com>>บอร์ดกสทช.ยันข้อมูลดีลควบรวมทรู–ดีแทค ยังไม่ครบถ้วนและไม่รอบด้านเพียงพอ สั่งสำนักงาน กสทช.วิเคราะห์เพิ่มโครงสร้างการรวมธุรกิจบริษัทใหม่ ผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด การถือครองคลื่นความถี่ การลดอัตราค่าบริการ การส่งเสริม MVNO อย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะชี้ขาด บล.โนมูระฯมองบวกไฟเขียว แนะซื้อ DTAC แต่ถ้าไม่กล้าเสี่ยงเลือก ADVANC-INTUCH ก.ล.ต.ชี้ชัดตั้งโต๊ะซื้อขายหุ้น ต้องรอผลกสทช. ชัดเจน
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช.วันนี้ (3 ส.ค.2565)ได้มีวาระพิจารณารายงานการขอรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้ คือ 1) ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทั้งสองบริษัทจำนวน 4 คณะ 2) ผลสรุปการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด 3 กลุ่ม 3) รายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์กรณีการรวมธุรกิจฯ โดยสำนักงาน กสทช. 4) ร่างผลการศึกษาของที่ปรึกษาวิเคราะห์การรวมธุรกิจฯ โดยศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 5) รายงานของที่ปรึกษาอิสระในการจัดทำความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจฯ โดยบริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า
หลังจากได้รับฟังข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงาน กสทช. ทางบอร์ด กสทช.ทั้ง 5 คน มีความเห็นร่วมกันว่า ข้อมูลที่นำเสนอมายังไม่ครบถ้วนและรอบด้านเพียงพอ ยังขาดข้อมูลสำคัญในหลายประเด็นเพื่อประกอบการพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ และเพื่อนำไปสู่มาตรการในการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการป้องกันผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตลาดและอุตสาหกรรม ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ จึงมีมติให้ทางสำนักงาน กสทช. ไปทำการวิเคราะห์ที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติมในประเด็นต่อไปนี้
• วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของ TRUE และ DTAC โดยให้รวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่บริษัท TRUE,DTAC และ New Co (ชื่อบริษัทใหม่หากมีการควบรวมแล้ว) มีอำนาจควบคุม
• วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่บริษัท New Co เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม
• วิเคราะห์ผลดีอันเกิดจากการประหยัดเนื่องจากขนาด (economies of scale) อย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางในการส่งต่อผลดีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอย่างประเมินได้ชัดเจน
• วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัท New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบและมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่ อย่างไร
• วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
• วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาดเพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น รวมทั้งทางเลือกให้ผู้บริโภค
ทั้งนี้ บอร์ด กสทช. มองว่าข้อมูลดังกล่าวมีความจำเป็นสำหรับการออกแบบมาตรการเพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดโทรคมนาคม หรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลของ กสทช. ตามกฎหมายโดยให้สำนักงาน กสทช. รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานที่มอบหมายต่อ กสทช. โดยเร็ว
ก่อนหน้านี้ คาดว่า คณะกรรมกร กสทช. จะมีมติเรื่องควบรวมกิจการ TRUE และ DTAC ในวันที่ 10 ส.ค.นี้
นักวิเคราะห์บล.โนมูระ พัฒนสิน มองบวก ประเด็นส่วนใหญ่เป็นการหามุมสนับสนุนการควบรวม อุตสาหกรรมยังเกิดการแข่งขัน จึงเริ่มเห็นความเป็นไปได้ที่มีโอกาสให้ควบรวมภายใต้กำหนดเงื่อนไขประกอบธุรกิจที่มีสัญญาณบวกมากขึ้น
“เชิงกลยุทธ์นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แนะนำ DTAC มูลค่าเหมาะสม 55 บาท ได้ประโยชน์สูงสุด หากการควบรวมเกิดขึ้น แต่เน้นปลอดภัยให้มอง ADVANC มูลค่าเหมาะสม 240 บาทและ INTUCH มูลค่า 78 บาท เป็นตัวเลือก โดยกรณีควบรวมเกิดขึ้น จะได้ผลบวกโครงสร้างอุตสาหกรรมดีขึ้น ส่วนกรณีไม่ได้ ยังปลอดภัยในฐานะที่ได้เปรียบจากความเป็นผู้นำธุรกิจทรัพยากรคลื่นของบริษัทที่จะเกิดขึ้นใหม่จากการควบรวม”บล.โนมูระพัฒนสินระบุ
ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต)ส่งหนังสือลงวันที่ 3 ส.ค.2565 ตอบกลับนายประสาน จ่างูเหลือม ประธานกลุ่มเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที)ว่า การดำเนินการต่าง ๆ กรณีการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ซึ่งรวมถึงการรับซื้อหุ้นของ TRUE และ DTAC จากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบรวมบริษัทในช่วงต้นเดือนส.ค. 2565 นั้น ต้องรอผลการพิจารณาที่ชัดเจนจาก กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลหลักในเรื่องนี้ก่อน