HoonSmart.com>>การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เผย มี 2 รายมายื่นข้อเสนอร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่ากว่า 1.42 แสนล้านบาท ส่วนบีทีเอสฯไม่สน แถมยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้พิจารณาเงื่อนไขการประกวดราคารอบใหม่ กำหนดคุณสมบัติมีเจตนากีดกันบริษัทไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายหนึ่งอย่างชัดเจน
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันที่ 27 ก.ค. 2565 มีผู้มายื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่ากว่า 1.42 แสนล้านบาท จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ ITD Group (บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ -ITD และ Incheon Transit Corporation )
นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง BEM กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อม และมั่นใจในศักยภาพและประสบการณ์ในการเดินรถและการก่อสร้างอุโมงค์ต่างๆ ตามเงื่อนไข ส่วนกรณีที่โครงการยังมีประเด็นฟ้องร้องที่ศาลปกครองนั้น เป็นอีกประเด็น ขณะที่การประมูลก็เดินหน้าต่อไป
นายประคิน อรุโณทอง รองประธานบริหารสายงานธุรกิจก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ITD กล่าวว่า บริษัทจะต่อสู้อย่างเต็มที่ โดยมีบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ที่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้าเป็นพันธมิตร
ส่วน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ไม่ได้เข้ายื่นซองประมูลในวันนี้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในกลุ่ม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า ในวันนี้ กลุ่ม BTS จะไม่เข้ายื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เพราะจากที่ศึกษารายะเอียดข้อกำหนดในเอกสารประกวดราคา (RFP) ฉบับใหม่พบว่ามีเงื่อนไขแตกต่างจากข้อกำหนดเดิม และบริษัทมองว่าเป็นเงื่อนไขที่มีข้อกำหนดคุณสมบัติเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาบางราย
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้พิจารณาเงื่อนไขการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่นี้ ซึ่งข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นประมูลที่มีเจตนากีดกันบริษัทไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายหนึ่งอย่างชัดเจน
สำหรับขั้นตอนต่อไป รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะพิจารณาข้อเสนอ และดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
ก่อนหน้านี้มีเอกชนมาซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯทั้งสิ้น 14 ราย ได้แก่
1.บริษัท BEM
2.บริษัท ITD
3.บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)
4.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)
5.บริษัท ช.การช่าง (CK)
6.China Harbour Engineering Company Limited
7.บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)
8.โตคิว คอนสตรัคชั่น
9.Incheon Transit Corporation
10.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)
11.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)
12.RH International (Singapore) Corporation
13.Kumagai Gumi Co., LTd.
14.บริษัท ซีเมนต์ โมบิลิตี้
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)