HoonSmart.com>>ธนาคารออมสินเปิดฉากแข่งดุธุรกิจสินเชื่อ-เงินฝาก หลัง 2 ปีประสบความสำเร็จ เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ช่วยคนไทยฝ่าวิกฤตแล้วกว่า 13 ล้านคน ผ่าน 45 โครงการ ประกาศรุกทุกมิติ สร้างอิมแพค ปรับลดโครงสร้างดอกเบี้ยในระบบ ต.ค.นี้ เปิดสินเชื่อที่ดินและขายฝาก อนุมัติสินเชื่อ Digital Lending โดยใช้ Alternative Data ไม่ต้องมีสลิปเงินเดือนก็กู้ได้ เป็นแบงก์แรกให้สินเชื่อธุรกิจที่มี ESG ได้คะแนนสูงได้ต้นุทนถูก ตั้งเป้าช่วยผู้เดือดร้อนถึง 200,000 รายสิ้นปี มั่นใจปี 65 กำไร 29,000 ล้านบาท ปี 64 นำส่งรายได้เข้ารัฐ 15,978 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงความสำเร็จในการปรับยุทธศาสตร์เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ตั้งแต่เมื่อปี 2563 ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯได้ช่วยคนไทยฝ่าวิกฤตแล้วกว่า 13 ล้านคน ผ่าน 45 โครงการ โดยเป็นผู้ที่ได้รับสินเชื่อ 5.7 ล้านราย ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตและเป็นการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เป็นครั้งแรกมากถึง 2.76 ล้านราย โดยที่มีกำไรสุทธิเติบโตและเงินทุนสำรองแข็งแกร่ง
แนวโน้มครึ่งปีหลังธนาคารจะเริ่มเข้าทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก มีระยะเวลา 10 ปี โดยเป็นธนาคารแห่งเดียวที่ธปท.ให้ใบอนุญาต เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนถูกลงและเป็นธรรมสำหรับคนไทย โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือนต.ค.นี้ และการอนุมัติสินเชื่อ Digital Lending โดยใช้ Alternative Data เริ่มโครงการต้นแบบในเดือนพ.ย. ไม่มีสลิปเงินเดือนก็มาขอสินเชื่อจากธนาคารออมสินได้ รวมถึงเร่งรัดการช่วยเหลือฟื้นฟูคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ ตั้งเป้าช่วยผู้เดือดร้อนได้ถึง 200,000 รายภายในสิ้นปี 2565
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังจะเป็นธนาคารแห่งแรกที่ใช้หลักการพิจารณาคำขอสินเชื่อธุรกิจจาก ESG หากบริษัทได้รับคะแนนสูง จะได้ส่วนลดดอกเบี้ยด้วย ขณะเดียวกันทางด้านแหล่งเงินทุน ก็ระดมเงินฝากโดยให้อัตราดอกเบี้ยสูง ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐวิสาหกิจ 10 ปี ดอกเบี้ยสูง เพื่อนำไปออกเงินฝากมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท ให้อัตราดอกเบี้ยถึง 4.06% ต่อปี
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 195,000 ล้านบาท รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือขาดรายได้ให้สามารถกลับมามีอาชีพ และสร้างรายได้ กว่า 100,000 ราย นอกจากนี้ ได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายโดยการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ NPLs อีกร่วม 4 ล้านราย โดยส่วนหนึ่งของโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สินเชื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้มีรายได้ประจำ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ และอีกมากมาย รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ โครงการผ่อนปรนภาระหนี้ไม่ให้เสียประวัติการเงิน ตลอดจนการฟื้นฟูและฝึกทักษะอาชีพเพื่อช่วยสร้างรายได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ธนาคารยังประสบความสำเร็จในการริเริ่มโครงการใหม่ ที่ช่วยให้คนฐานรากและ SMEs ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ ด้วยต้นทุนที่ถูกลงและเป็นธรรม ได้แก่1.การเข้าทำธุรกิจจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงช่วยกดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนี้ให้ลดต่ำลง จาก 28% ลงเหลือ 16 – 18% โดยอนุมัติสินเชื่อให้คนฐานรากแล้วกว่า 1 ล้านราย และ2. การปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน ในโครงการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ทำให้สามารถอนุมัติสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงเวลายากลำบากแล้วเป็นวงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท ตอกย้ำการขับเคลื่อนบทบาทธนาคารเพื่อสังคมที่ตั้งเป้าช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือและโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นผลมาจากการพัฒนายกระดับบริการ Mobile Banking ที่ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อผ่านแอป MyMo ได้มากถึง 1.6 ล้านราย และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 5.4 แสนราย ภายใต้สถานการณ์ โควิด-19 โดยที่ลูกค้าประชาชนไม่ต้องไปติดต่อที่สาขา
” เราจะยกระดับขยายผลให้ทุกมิติที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ ทั้งกระบวนการทำงานและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้เกิดความลึกเพื่อเป็นธนาคารเพื่อสังคม และสร้างอิมแพค ดอกเบี้ยต่ำ ปกติธนาคารรัฐก็ติดดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) อยู่ที่ 2.5% ธนาคารพาณิชย์ได้ 3-3.5% ส่วนนอนแบงก์ 15-20% เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนฐานรากด้วยดอกเบี้ยที่เป็นธรรม และ “ยึดหลักนำกำไรจากการประกอบธุรกิจปกติ มาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคม” ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเสริมความแข็งแกร่งของธนาคาร ”
สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนแรกขอปี 2565 จากการลดต้นทุนทางธุรกิจ การควบคุมค่าใช้จ่าย และงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 15,831 ล้านบาท คาดการณ์กำไรทั้งปี 2565 ที่ 29,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่เหมาะสม หลังจากมีการตั้งสำรองไว้พร้อมแล้ว โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐ เป็นจำนวนเงิน 15,978 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง พร้อมกับความสามารถรักษาระดับ NPLs ได้ 2.67% ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) 160% และมีเงินสำรองรวม (Total Provision) และเงินสำรองทั่วไป (General Provision) สูงสุดเป็นประวัติการณ์