HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดลบ ดัชนีดาวโจนส์ร่วง 192 จุด กังวลการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ลดลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง รอข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯวันนี้ น้ำมันดิบ WTI ดิ่ง 7.9% หลุด 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ปิดที่ 95.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปิดบวก รอรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและเงินเฟ้อสหรัฐฯ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ปิดที่ 30,981.33 จุด ลดลง 192.51 จุด หรือ 0.62% ความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดความต้องการในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง ขณะที่นักลงทุนรอการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิถุนายน
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,818.80 จุด ลดลง 35.63 จุด, -0.92%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,264.73 จุด ลดลง 107.87 จุด, -0.95%
คีธ เลอร์เนอร์ จาก Truist กลาวว่า ไม่มีปัจจัยใหม่มากระตุ้นการลงทุน ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวและธนาคารกลางทั่วโลกยังดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว จึงเป็นความวิตกของตลาด
ตลาดอ่อนตัวในช่วงท้ายการซื้อขาย ดัชนีหลักเหวี่ยงขึ้นลงสลับกันระหว่างแดนบวกกับแดนลบ โดยดัชนีดาวโจนส์ขึ้นไปถึง 172 จุดและลงไปต่ำถึง 300 จุด
นักลงทุนเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยงและหันมาหาสินทรัพย์ปลอดภัยแบบเดิม(traditional safe havens)ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและเงินดอลลาร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีลดลงไปที่ 2.98%
เป๊บซี่-โค ประเดิมการรายงานผลการดำเนินงานไตรมาสสอง ด้วยกำไรและรายได้ที่ดีกว่าคาด และปรับเพิ่มคาดการณ์ทั้งปี
นักลงทุนจับตาว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการประมาณการผลประกอบการหรือไม่ เพราะภาคธุรกิจกำลังประสบกับอัตราดอกเบี้ยสูงและแรงกดดันเงินเฟ้อมากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ตาม คริส ซัคคาเรลลี ประธานเจ้าหน้าที่ลงทุนจาก Alliance กล่าวว่า ผลกระทบนี้จะเห็นในผลการดำเนินงานไตรมาสสาม เพราะไตรมาสนี้บริษัทสามารถโอนต้นทุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นไปให้ผู้บริโภคได้และอยู่ในสถานที่ดีในการรับมือไตรมาสนี้
ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ซึ่งวัดเงินดอลลาร์เทียบกับ 6 สกุลหลักเพิ่มสูงขึ้นมาที่ 108.56 ส่งผลให้เงินยูโรมีค่าเท่ากับเงินดอลลาร์ และอ่อนค่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2002 จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป
ในปีนี้ดัชนีเงินดอลลาร์ปรับขึ้นแล้ว 13% ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในระยะต่อไป
นักลงทุนรอการรายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ ซึ่งผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้น 8.8% จาก 8.6% ในเดือนพฤษภาคม
อาร์ต โฮแกน จาก National Securities กล่าวว่า เงินเฟ้ออาจจะปรับตัวขึ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า
หุ้นที่ถูกเทขายก่อนหน้าเด้งขึ้นเมื่อวานนี้แต่ไม่มีแรงซื้อต่อจึงอ่อนตัวในท้ายตลาด หุ้นเซลส์ฟอร์ซและหุ้นไมโครซอฟต์ต่างลดลงกว่า 4% หุ้นเน็ตฟลิกซ์และหุ้นอัลฟาเบทต่างลดลงกว่า 1% หุ้นแอมะซอนลดลงกว่า 2%
หุ้นสายการบินปรับตัวขึ้นหลังอเมริกันแอร์ไลน์คาดรายได้ไตรมาสสองดีกว่าระดับปี 2019 ราคาหุ้นปรับขึ้นราว 10% หุ้นยูไนเต็ดแอร์ไลน์บวก 8.1% หุ้นเดลต้าแอร์ไลน์เพิ่มขึ้น 6.2% หุ้นเซ้าท์เวสต์แอร์ไลน์ปรับขึ้น 4.6%
หุ้นธุรกิจเรือสำราญปรับขึ้นโนหุ้นนอร์วีเจียนปรับขึ้น 5.8% หุ้นคาร์นิวาลปรับขึ้น 7.5%
หุ้นโบอิ้งบวก 7.4% จากการส่งมอบรายเดือนที่แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2019
ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยกลุ่มธุรกิจการเงินที่เพิ่มขึ้นราว 2 % ขณะที่นักลงทุนรอการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้
เงินยูโรอ่อนค่า 0.4%มาที่1.0001 ดอลลาร์ในช่วงแรก จากวิกฤติพลังงานและภาวะเศรษฐกิจก่อนที่จะแข็งคาขึ้นเล็กน้อย 0.2% ที่ 1.006 ดอลลาร์
ในเยอรมนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนกรกฎาคมร่วงลงแรง โดยสถาบันวิจัย ZEW รายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นอยู่ที่ -53.8 จุดจาก -28 ในเดือนก่อหน้า
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 417.04 จุด เพิ่มขึ้น 2.02 จุด, +0.49%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,209.86 จุด เพิ่มขึ้น 13.27 จุด, +0.18%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,044.20 จุด เพิ่มขึ้น 47.90 จุด, +0.80%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,905.48 จุด เพิ่มขึ้น 73.04 จุด, +0.57%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 8.25 ดอลลาร์ หรือ 7.9% ปิดที่ 95.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือน ลดลง 7.61 ดอลลาร์ หรือ 7.1% ปิดที่ 99.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล