HANA-SVI ขึ้นนำกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รีบาวด์หลังลงลึก-เก็งค่าเงิน

HoonSmart.com>>หุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างขยับขึ้น นำโดย HANA-SVI เกิดเทคนิคเคิลรีบาวด์หลังปรับตัวลงไปมาก และเก็งค่าเงิน โดยเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับยูโร เป็น 1 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 ยูโร ส่วนเงินบาทก็อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 ปี อย่างไรก็ดีกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยังมีความเสี่ยงจากลิ้งค์กับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้แนวโน้มกำไรยังไม่กลับมาง่าย บล.เคทีบีเอสที คาดกำไรปกติไตรมาส 2/65 ของ HANA ที่ 354 ล้านบาท (-54% YoY, -11% QoQ)

เมื่อเวลา 10.43 น.หุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างขยับขึ้น นำโดยหุ้น HANA บวก 3.87% มาอยู่ที่ 40.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 203.98 ล้านบาท
หุ้น SVI บวก 2.17% มาอยู่ที่ 7.05 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท มูลค่าซื้อขาย 13.16 ล้านบาท
หุ้น KCE บวก 1.82% มาอยู่ที่ 56.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 148.93 ล้านบาท
หุ้น DELTA บวก 0.93% มาอยู่ที่ 325.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 69.56 ล้านบาท

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เช้านี้ต่างขยับตัวขึ้นมา คาดว่าจะเป็นแค่การเกิดเทคนิคเคิลรีบาวด์หลังจากที่ราคาหุ้นได้ปรับตัวลงไปมากแล้ว และยังมีการเล่นเก็งกำไรตามค่าเงินที่ช่วงสั้นเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับยูโร เป็น 1 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 ยูโร ได้เลย และหากเทียบกับเงินบาทอยู่ที่ 36.2 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 ปี

“ยังมองกลุ่มอิเล็กทรอกนิสก์ยังมีความเสี่ยง จากที่่ลิ้งค์กับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตั้ว ทำให้แนวโน้มกำไรยังไม่ชัดเจน และไม่คิดว่ากำไรจะกลับมาได้ง่าย ซึ่งที่จริงเงินบาทอ่อนค่ามาได้สักพักแล้ว แต่หุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังไม่กล้าที่จะขึ้นไปมาก”

สัญญาณทางเทคนิคมองหุ้น HANA มีแนวรับ 39 บาท แนวต้าน 41-43 บาท และ SVI กำลังขึ้นไปทดสอบเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ที่ 7.10 บาท หากผ่านจะมีแนวต้านถัดไปที่ 7.40 บาท และมีแนวรับ 6.80 บาท ส่วน KCE มีแนวรับ 54 บาท แนวต้าน 58 บาท ด้าน DELTA มีแนวรับ 315 บาท แนวต้าน 338 บาท ซึ่ง DELTA ทรงตัวได้ค่อนข้างดี

บล.เคทีบีเอสที ปรับคำแนะนำหุ้น HANA ขึ้นเป็น “ถือ” จากเดิม “ขาย” และคงราคาเป้าหมายที่ 41.00 บาท มองว่าราคาหุ้นปัจจุบันมี downside risk ค่อนข้างจำกัดจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามากในช่วงทีผ่านมา และรับรู้ข่าวร้ายไปมากแล้ว รวมถึงสถานการณ์ในจีนเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากผลกระทบของ China lockdown ในช่วงไตรมาส 2/65 และปัญหา chip shortage ที่เริ่มดีขึ้น โดยกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์มองว่าในช่วงครึ่งหลังปี 65 ยอดผลิตรถยนต์จะสูงกว่าช่วงครึ่งแรกปี 65 จากมุมมองสภาอุตสาหกรรมแห่งไทย (ส.อ.ท.) จึงมองว่าผลการดำเนินงานในระยะยาวของบริษัทยังอยู่ในช่วงเติบโตจากความต้องการชิ้นส่วน semiconductor ที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงธุรกิจ high margin ที่จะเป็น catalyst หลักของการเติบโตในอนาคต

พร้อมคาดว่าบริษัทจะรายงานกำไรปกติในไตรมาส 2/65 ที่ 354 ล้านบาท (-54% YoY, -11% QoQ) ลดลงอย่างมาก YoY จาก gross margin ที่ลดลง ขณะที่หดตัว QoQ ผลกระทบหลักมาจาก China lockdown ในช่วงที่ผ่านมาทำให้บริษัทไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบในการผลิตได้ ส่งผลให้กำลังการผลิตในประเทศจีนหายไปประมาณ 25% ขณะที่ gross margin ลดลงเล็กน้อย QoQ จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น แม้ว่าจะได้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า