“เจียรวนนท์” รักษาแชมป์มหาเศรษฐีไทยปี 65 JMART-COM7-หมอพงศ์ศักดิ์ ติดโผหน้าใหม่

HoonSmart.com>> Forbes Thailand จัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 65 “พี่น้องเจียรวนนท์”ยังคงรวยอันดับ 1 มูลค่าทรัพย์สินรวม 2.65 หมื่นล้านเหรียญ (9.33 แสนล้านบาท) ลดลง 3.7 พันล้านเหรียญ อันดับ 2 “เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว ” มูลค่าทรัพย์สิน 2.64 หมื่นล้านเหรียญ (9.30 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นอีก 1.9 พันล้านเหรียญ อันดับ 3 “เจริญ สิริวัฒนภักดี” มูลค่าทรัพย์สิน 3.94 แสนล้านบาท โดยมี 3 รายกลับเข้าสู่ทำเนียบใหม่ “กัลกุล ดำรงค์ปิยวุฒิ์” หลังห่างหายไป 4 ปี ตามด้วย “บุญชัย เบญจรงคกุล” “พิชญ์ โพธารามิก” 

Forbes Thailand เปิดเผยรายชื่อ 50 อันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2565 โดยขีดเส้นมูลค่าทรัพย์สินต่ำสุดที่ 655 ล้านเหรียญ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ระดับ  737 ล้านเหรียญ และคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 17 มิ.ย. 65 อ่อนค่าลงถึง 12% ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ซบเซา ดัชนีหุ้นไทยปรับลดจากจุดสูงสุดลง 3% ส่งให้มูลค่ารวมทรัพย์สินของมหาเศรษฐีไทยทั้ง 50 รายชื่อ ลดลงเกือบ 6% อยู่ที่ 1.51 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 5.31 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับการจัดอันดับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มหาเศรษฐีไทย 3 อันดับแรกยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันดับ 1 ยังคงเป็นพี่น้องเจียรวนนท์ มูลค่าทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 2.65 หมื่นล้านเหรียญ (9.33 แสนล้านบาท) ลดลง 3.7 พันล้านเหรียญ ซึ่งมาจากอัตราแลกเปลี่ยนสหรัฐฯ  อันดับ 2 นายเฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว จากยอดขายของเครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull ที่เติบโตจากทั่วโลก มีมูลค่าทรัพย์สิน 2.64 หมื่นล้านเหรียญ (9.30 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น  1.9 พันล้านเหรียญ  ซึ่งใกล้เคียงกับมหาเศรษฐีอันดับหนึ่ง

อันดับ 3 นายเจริญ สิริวัฒนภักดี จากเครือไทยเบฟเวอเรจ มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.12 หมื่นล้านเหรียญ (3.94 แสนล้านบาท)

อันดับ 4 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ดำเนินธุรกิจด้านธุรกิจพลังงาน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านเหรียญ (3.87 แสนล้านบาท) เป็นอีกหนึ่งใน 10 รายที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 2.2 พันล้านเหรียญ และจากอานิสงส์ของอัตราแลกเปลี่ยน  นอกจากธุรกิจพลังงานแล้ว ยังเดินหน้าขยายความร่วมมือทางธุรกิจนำ GULF, บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS และ Sintel เตรียมจัดตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศ

อันดับ 5 ตระกูลจิราธิวัฒน์ ดำเนินธุรกิจค้าปลีก มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.06 หมื่นล้านเหรียญ (3.73 แสนล้านบาท)

อันดับ 6 นายสมโภช อาหุนัย และครอบครัว ดำเนินธุรกิจพลังงาน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 3.9 พันล้านเหรียญ (1.37 แสนล้านบาท)

อันดับ 7 นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ดำเนินธุรกิจการแพทย์ มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 3.1 พันล้านเหรียญ (1.09 แสนล้านบาท)

อันดับ 8 นายวานิช ไชยวรรณ ดำเนินธุรกิจประกันชีวิต บริษัท ไทยประกันชีวิต มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 3 พันล้านเหรียญ (1.05 แสนล้านบาท)

อันดับ 9 นายประจักษ์ ตั้งคารวคุณ และครอบครัว ดำเนินธุรกิจสีทาอาคาร บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ ประเทศไทย (TOA) มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 2.8 พันล้านเหรียญ (9.86 หมื่นล้านบาท)

อันดับ 10 ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โอสถสภา (OSP) มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 2.7 พันล้านเหรียญ (9.51 หมื่นล้านบาท)

ในปี 2565 มีมหาเศรษฐีหน้าใหม่ 3 ราย ได้แก่ 1. นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ บริษัท เจ มาร์ท (JMART) ติดในรายชื่ออันดับที่ 37 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 835 ล้านเหรียญ (2.94 พันล้านบาท) เนื่องจากมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศเพิ่มสูงขึ้น

2. นายสุระ คณิตทวีกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัทคอมเซเว่น (COM7) ติดในรายชื่อมหาเศรษฐีไทยในอันดับที่ 49 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 670 ล้านเหรียญ (2.36 พันล้านบาท) ขณะที่มูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นของ COM7 หนึ่งในผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จาก Apple รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

3. นายพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี ผู้ร่วมก่อตั้งคลินิกเสริมความงามพงศ์ศักดิ์ และยังเป็นนักลงทุนสาย (Value Investor: VI) ติดในอันดับที่ 50 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 655 ล้านเหรียญ (2.3 พันล้านบาท)  หุ้นในพอร์ตมี COM7 อยู่ส่วนหนึ่ง

ส่วนมหาเศรษฐีไทยที่กลับเข้าสู่ทำเนียบในปีนี้  มีจำนวน 3 ราย ได้แก่ นายกัลกุล ดำรงค์ปิยวุฒิ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) หลังห่างหายไปเป็นเวลา 4 ปี บริษัทด้านพลังงานนี้ได้เดินทางสู่ธุรกิจใหม่ด้านกัญชา-กัญชง  นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และนายพิชญ์ โพธารามิก ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นนอล (JAS)

ขณะเดียวกันมีมหาเศรษฐีไทยที่หลุดจากอันดับจำนวน 6 ราย หนึ่งในนั้นคือนายสมหวัง และนายไวยวุฒิ สินเจริญกุล  บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ซึ่งหนึ่งกลุ่มบริษัทที่ผลิตถุงมือยาง ได้รับผลกระทบเนื่อง จากความต้องการของถุงมือยางลดลง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19