ศรีสวัสดิ์รุกฟินเทค : “ตอนเที่ยงคืน ลูกค้าอยากกู้เงิน เงินไปถึงบัญชีเลย”

“ปีที่แล้วเราใช้เวลา 360 วัน ปรับโครงสร้างบริษัท ทำตามกฎระเบียบที่มีอยู่ให้ครบถ้วน ปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีที่จะมากระทบ ถ้าไม่ทันเราจะถูกทิ้งห่าง ส่วนปีนี้เราจะมุ่งเน้นขยายกิจการด้วยความมั่นคง เพราะพื้นฐานที่ดีเป็นจุดกำเนิดของทุกสิ่ง” ธิดา แก้วบุตตา กรรมการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ระบุบนเวทีเปิดตัว “Hoonsmart.com”

ธิดา บอกว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ศรีสวัสดิ์ปรับตัวต่อเนื่องและตลอดเวลา ตั้งแต่ช่วงแรกๆที่คุณพ่อ (ฉัตรชัย แก้วบุตตา) ก่อตั้งธุรกิจเมื่อปี 1979 (พ.ศ.2522) ที่ จ.เพชรบูรณ์ ห่างจากกรุงเทพฯ 365 กิโลเมตร โดยเป็นเอเย่นต์ขายรถมอเตอร์ไซด์ยี่ห้อหนึ่งจากญี่ปุ่น แต่ต่อมาไม่นานก็ต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจเป็นครั้งแรก

“การทำธุรกิจขายมอเตอร์ไซด์ ตอนที่คุณพ่อตั้งตัว เงินดาวน์อยู่ 50% อีก 50% ค่อยๆผ่อน นี่เป็นระยะที่ปลอดภัยมาก พออยู่ไป อยู่มา ลูกค้าที่ผ่อนรถจนเป็นเจ้าของกลับมาหา ขอกู้เงินไปทำทุน โดยเอารถมอเตอร์ค้ำประกัน เพราะเมื่อ 40 ปีก่อน การไปกู้เงินจากธนาคารเป็นเรื่องที่เกินฝันของคนจ.เพชรบูรณ์ จากนั้นธุรกิจปล่อยสินเชื่อก็เริ่มมา”ธิดากล่าว

ต่อมาศรีสวัสดิ์เริ่มเผชิญกับอุปสรรคทางธุรกิจ เมื่อมีรายใหญ่เข้ามาแข่งขัน เงินดาวน์มอเตอร์ไซด์ที่เคยอยู่ที่ 50% ลดลงเหลือ 40% เหลือ 30% เหลือ 10% จนกระทั่งไม่ต้องมีเงินดาวน์แถมยังได้เงินกลับบ้านอีก บริษัทจึงตัดสินใจเลิกกิจการขายมอเตอร์ไซด์ เพราะการแข่งขันสูงเกินไป และเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าความเสี่ยงไม่คุ้มค่ากับรีเทริ์นที่กลับมา

“ถ้ายังคงขายมอเตอร์ไซด์เงินผ่อนต่อไป เราคงรับภาระหนี้เสียไม่ไหว เราเลยหยุดธุรกิจนี้ แล้วมาทำสินเชื่อแบบมีหลักประกัน แรกๆก็เป็นมอเตอร์ไซด์ ต่อมาเป็นรถยนต์ รถ 6 ล้อ รถ 10 ล้อ แล้วเป็นบ้านและที่ดิน นี่เป็นการปรับโมเดลธุรกิจในช่วงแรกๆ และศรีสวัสดิ์เติบโตในแนวทางนี้เรื่อยๆมา โดยใช้เงินทุนจากธนาคารบ้าง พี่น้องบ้าง เพื่อนๆบ้าง” ธิดาบอก

30 ปีต่อมา ธุรกิจปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกันของศรีสวัสดิ์ เติบโตเรื่อยมาจนมี 600 สาขาทั่วประเทศ และก็มาถึงจุดอิ่มตัว เพราะการปล่อยสินเชื่อต้องมีเงินทุนเพิ่ม แต่ช่วงนั้นวงเงินสินเชื่อธนาคารเต็มแล้ว จะกู้นอกระบบก็ไม่ได้ เพราะไซด์ธุรกิจใหญ่เกินไป ทำให้ธุรกิจของครอบครัว “แก้วบุตตา” ต้องปรับตัวไปเป็นบริษัทมหาชนในปี 2557

“เราก็เริ่มมองหาว่ามีทางไหนที่จะทำให้บริษัทเติบโตไปได้ พอดีพี่สาว (ดวงใจ แก้วบุตตา) กลับมาช่วยงานที่บ้าน คนรุ่นใหม่ก็เห็นว่าการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นทางเลือกที่ดี เราใช้เวลา 3-4 ปีก่อนเข้าตลาดฯเตรียมทุกอย่าง และได้เงินจากการระดมทุน 1,000 ล้านบาท แล้วใช้ทุกบาททุกสตางค์ขยายกิจการจนมีสาขาเพิ่มเป็นเกือบ 2,500 สาขาในวันนี้”ธิดาบอก

ส่งผลให้ธุรกิจของกลุ่มศรีสวัสดิ์เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หรือจากปี 2557-2560 พอร์ตลูกค้าและกำไรเพิ่มทุกปี โดยรายได้เติบโต 3 เท่า จาก 2,689 ล้านบาทเป็น 6,998 ล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัวจาก 854 ล้านบาท เป็น 2,666 ล้านบาท ในขณะที่สินทรัพย์บริษัทเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวจาก 8,591 ล้านบาท เป็น 33,376 ล้านบาท

ธิดา แก้วบุตตา

โดยเฉพาะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกลุ่มศรีสวัสดิ์ โดยเข้าเทคโอเวอร์ บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร หรือ BFIT ซึ่งมีไลเซ่นส์สถาบันการเงิน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เงินทุน ศรีสวัสดิ์ (BFIT) พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่จาก “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979” เป็น “ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น” ทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้งคอมปานี ส่วน BFIT เป็นบริษัทปล่อยสินเชื่อ

“ไลเซ่นส์ของ BFIT ทำให้กลุ่มศรีสวัสดิ์ปล่อยสินเชื่อได้ และรับฝากเงินเอาไปเป็นทุนขยายธุรกิจได้ ข้อดีอีกอย่าง คือ เราจะอยู่ภายใต้พ.ร.บ.สถาบันการเงิน ทำให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเองได้ แม้จะต้องเสนอให้เรกกูเรเตอร์อนุมัติก่อน แต่จะลดความเสี่ยงจากการทำผิดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งห้ามไม่ให้เรียกดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวมกันเกิน 15%”ธิดากล่าว

ธิดา กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น ได้ใช้เวลาในการปรับโครงสร้างและปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับควบรวมกิจการจนขณะนี้ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว

โดยมีบริษัทลูกที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์และสาขาทั้งหมด 2,500 แห่ง ซึ่งเป็นที่ให้ลูกค้ามาติดต่อและรับชำระค่างวด มีบริษัทที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน และไม่หลักประกัน เช่น “เงินสดทันใจ” มีบริษัทที่เข้าไปลงทุนปล่อยสินเชื่อในประเทศเพื่อนบ้าน และมีบริษัทเบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะซื้อหนี้เสียและสินทรัพย์รอการขาย (NPA) จากสถาบันการเงินมาบริหาร

“ปีนี้บริษัทมีเป้าหมายขยายกิจการไปยังประเทศข้างเคียง เรามีบริษัทลูกที่มีพอร์ตลูกค้าที่เวียดนาม ซึ่งแต่ก่อนคนเวียดนามซื้อรถจักรยนต์เป็นเงินสด ไม่รู้จักบัตรเครดิต แต่เมื่อเร็วๆนี้คนเวียดนามเริ่มรู้จักบัตรเครดิต เริ่มรู้จักการผ่อนชำระ ยิ่งต่อเศรษฐกิจเวียดนามจะโตปีละ 7% คนจะหันไปขับรถกระบะ เขาจะต้องการเงินกู้ไปซื้อรถ ตรงจุดนี้เป็นโอกาสที่เราจะขยายกิจการออกไป โดยใช้แข็งของเราแล้วปรับตัวให้เหมาะกับแต่ละประเทศ แล้วค่อยๆโต”ธิดากล่าว

ธิดา บอกว่า ในขณะที่ธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยี ส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน โดยเฉพาะ “เงินสดทันใจ” ต้องปรับตัว กลุ่มศรีสวัสดิ์ได้ลงทุนระบบเทคโนโลยีและเตรียมแพรตฟอร์มไว้พร้อมแล้ว สำหรับเข้าไปแข่งขันในธุรกิจนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงหนี้เสีย

“เราได้ให้บริษัทลูกที่ซื้อหนี้เสียมาบริหารเก็บข้อมูลลูกค้า และเริ่มวิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อแล้ว จากนั้นในก้าวถัดไปเราจะเข้าสู่ธุรกิจฟินเทค ต่อไปนี้ลูกค้านอนๆอยู่ตอนเที่ยงคืน อยากกู้เงิน ก็ได้เงิน เงินไปถึงบัญชีเลย แต่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลลูกหนี้ให้ดี ไม่เช่นนั้นการเติบโตของพอร์ตจะเต็มไปด้วยหนี้เสีย”ธิดากล่าว

ธิดากล่าวสรุปว่า “เราจะไปโตในต่างประเทศ โอกาสไม่ได้มีอยู่แต่เมืองไทย มันมีอยู่ทั่วโลก ส่วนฟินเทคแน่นอนจะเป็นก้าวถัดไปในการให้บริการทางการเงิน คนที่ไปถูกที่ถูกทาง จะอยู่รอดและเติบโตอย่างมั่นคง คนที่ตามไม่ทันจะมีปัญหาในการขยายธุรกิจ และเราเองก็ลงทุนตรงนี้ตลอด”