HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก ดัชนีดาวโจนส์พุ่ง 300 จุด รับมติเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ไปแตะระดับ 1.50-1.75% ตามคาด พร้อมส่งสัญญาณขึ้นเท่ากันในครั้งหน้า ปรับแนวโน้มดอกเบี้ยสิ้นปี 65 ขึ้นเป็น 3.40% ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วง 3.62 ดอลลาร์ หรือ 3% ส่วนเบรนท์ลดลง 2.2% ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวก ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ปิดที่ 30,668.53 จุด พุ่งขึ้น 303.70 จุด หรือ 1.00% หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% ไปที่ระดับ 1.50-1.75% ตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 และส่งสัญญานว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยในระดับเท่ากันในเดือนกรกฎาคม ทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าเฟดมุ่งมั่นที่จะดึงเงินเฟ้อลง
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,789.99 จุด เพิ่มขึ้น 54.51 จุด, +1.46%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,099.15 จุด เพิ่มขึ้น 270.81 จุด, +2.50%
การซื้อขายผันผวนหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยแต่พุ่งขึ้นไปที่ระดับสูงสุดของวัน หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวในการแถลงข่าวช่วงบ่ายว่า “ไม่ว่าจะขึ้น 0.40% หรือ 0.75% ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้นในการประชุมครั้งหน้า” ซึ่งสะท้อนนัยว่าการขึ้นดอกเบี้ย 1% ในระยะสั้นไม่มีความเป็นไปได้
ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%ในวันพุธ แต่การแถลงของนายพาวเวลล์ที่จะขึ้นดอกเบี้ยในระดับเดียวกันอีกครั้งซึ่งทำให้ตลาดคาดไม่ถึง
คณะกรรมการFOMC ระบุในแถลงการณ์ว่า “มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะดึงเงินเฟ้อให้กลับสู่กรอบเป้าหมาย 2%”
ชาร์ลี ริปลีย์จาก Allianz Investment Management กล่าวว่า “การแถลงในวันนี้เป็นการยืนยันความมุ่งมั่นของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อที่รุนแรงมากขึ้น แม้ว่าจะมีผลที่ตามมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเช่นนี้ โดยรวมแล้ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อมาระยะหนึ่งแล้ว และการขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวจากเฟดน่าจะช่วยให้ตลาดผ่อนคลายได้ในขณะนี้”
นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในสิ้นปีนี้ รวมทั้งคาดว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จาก 4.3% ที่คาดไว้เดิม แต่คงคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานไม่รวมอาหารและพลังงานไว้ที่4.3% และได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ลงมาที่ 1.7% จาก 2.8% ที่คาด ในเดือนมีนาคม
หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจ ปรับเพิ่มขึ้น โดยหุ้นโบอิ้ง เพิ่มขึ้น 9.5% หุ้นเจเนอรัล อิเล็กทริก เพิ่มขึ้น 1.5%
ในกลุ่มธนาคารหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา เพิ่มขึ้น 1.9% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ เพิ่มขึ้น 2.9% หุ้นเจพีมอร์แกน เพิ่มขึ้น 1.2% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ เพิ่มขึ้น 1.4% หุ้นซิตี้กรุ๊ป เพิ่มขึ้น 3.5%
หุ้นกลุ่มเดินทางและธุรกิจเรือสำราญปรับตัวขึ้นจากที่ลดลงติดต่อกันหลายวันก่อนหน้า โดยหุ้นเดลต้า แอร์ไลน์เพิ่มขึ้น 1.9% หุ้นยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เพิ่มขึ้น 2.4% หุ้นคาร์นิวัล คอร์ป เพิ่มขึ้น 3.4% หุ้นรอยัล คาริบเบียน ครูส เพิ่มขึ้น 0.5%
ส่วนกลุ่มเทคโนโลยี หุ้นแอมะซอน เพิ่มขึ้น 5.24 หุ้นไมโครซอฟต์เพิ่มขึ้น 2.9% หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส เพิ่มขึ้น 3.4% หุ้นอัลฟาเบท เพิ่มขึ้น 2.9%
ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน นำโดยกลุ่มเดินทางและสันทนาการที่เพิ่มขึ้น 3.4% ขณะที่นักลงทุนรอผลการประชุมของธนาคารกลางของประเทศหลัก รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ซึ่งคาดว่าจะข้นดอกเบี้ยในเชิงรุกเพื่อคุมเงินเฟ้อ
ธนาคารกลางสหภาพยุโรป( European Central Bank: ECB) ประชุมเมื่อวานนี้ซึ่งไม่ได้อยู่ในกำหนดการ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหลายประเทศในยูโรโซนเพิ่มขึ้น
ECB ได้ประกาศแผนการที่จะสร้างเครื่องมือใหม่เพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก รวมทั้งบรรเทาความวิตกเกี่ยวกับวิกฤติหนี้สินครั้งใหม่
คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษ( Bank of England) จะประกาศการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้ง 5
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 413.10 จุด เพิ่มขึ้น 5.78 จุด, +1.42%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,273.41 จุด เพิ่มขึ้น 85.95 จุด, +1.20%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,030.13 จุด เพิ่มขึ้น 80.29 จุด, +1.35%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,485.29 จุด เพิ่มขึ้น 180.90 จุด, +1.36%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม ลดลง 3.62 ดอลลาร์ หรือ 3% ปิดที่ 115.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 2.66 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 118.51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล