“มอร์นิ่งสตาร์” มองเฟดประชุมรอบนี้อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% หลังเงินเฟ้อพุ่ง

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนพ.ค. พุ่งรอบ 40 ปี จากต้นทุนพลังงานและอาหารสูงขึ้น กดดันเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี จับตาประชุมเฟด 14-15 มิ.ย.นี้ อาจเห็นขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 0.75% พร้อมประเมินราคาน้ำมันลดเหลือ 55 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 68 ซัพพลายที่เพิ่มขึ้นทดแทนการผลิตจากรัสเซีย

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐในเดือนพ.ค. ยังคงอยู่ในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่องและกดดันต่อภาคการบริโภคในประเทศ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมออกมาอยู่ที่ 8.6% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.0% ซึ่งหลักๆเป็นผลมาจากต้นทุนพลังงานและอาหารที่ปรับสูงขึ้น (หากไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 0.6%) และแม้ว่าเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ก็ตาม แต่ด้วยต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างราคาก๊าซและราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นก็ยังคงเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นในรอบ 40 ปี และทำให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี

อย่างไรก็ตาม Morningstar คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลงเหลือ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2025 จากปัจจุบันที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลจาก Supply ที่เพิ่มขึ้นเพื่อมาทดแทนการผลิตจากรัสเซีย รวมถึงปัญหาการขาดแคลนรถยนต์และสินค้าที่ดีขึ้นจะทำให้การปรับขึ้นของราคาสินค้าลดลงไปด้วย แต่เนื่องจากปัญหา Supply shortage อาจต้องใช้เวลาในการแก้ไข ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่สูงยังคงมีอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ทั้ง ต้นทุนราคาพลังงานที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยราคา Gasoline เพิ่มขึ้นถึง 48.7% จากเดือน พ.ค. ของปีที่แล้ว ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 106.7% เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1935 และค่าไฟปรับขึ้นถึง 12.0% สูงสุดนับตั้งแต่ ส.ค. ปี 2006 ด้านราคาอาหารในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 11.9% ในรอบ 1 ปี

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. นั้นมาจากราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้นจากผลของสงครามในยูเครน ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานด้วยเนื่องจากราคาพลังงานกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าและบริการ เช่น ราคาค่าโดยสารสายการบินได้ปรับเพิ่มขึ้น 13% ในเดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ด้วยอัตราการเติบโตของค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อัตราค่าจ้างที่แท้จริงนั้นปรับลดลงและทำให้ผู้บริโภคหันมาออมเงินมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆที่น่าจะดีขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารที่ลดลง ทำให้คาดว่าอัตราค่าจ้างที่แท้จริงนั้นจะดีขึ้นได้ในอนาคต

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของ FED ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันก็คาดว่าจะมีการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น โดยตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นไปถึง 3% ในสิ้นปีจากระดับปัจจุบันที่ 0.75%

การประชุมของ FED จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 14-15 มิถุนายนนี้ และตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% จำนวน 2 ครั้งในการประชุมเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ที่จะถึงนี้ แต่ก็เป็นไปได้ที่เราอาจได้เห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากถึง 0.75% ในการประชุมรอบนี้ก็เป็นได้