HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 ดัชนีดาวโจนส์ปิดดิ่ง 880 จุด ทรุดตัวลงกว่า 2.73% ดัชนี S&P 500 ลดลง 2.91% ดัชนี Nasdaq ร่วงกว่า 3.52% หลังเงินเฟ้อพ.ค.ของสหรัฐฯ พุ่งเกินคาด ปรับเพิ่มขึ้น 8.6% เมื่อเทียบรายปี หนุนเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยนักลงทุนคาดขึ้นอีก 0.50% ประชุมครั้งหน้า ฉุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ราคาน้ำมันดิบลดลง ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ 2-3%
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 10 มิถุนายน 2565 ปิดที่ 31,392.79 จุด ลดลง 880.00 จุด หรือ 2.73% จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,900.86 จุด ลดลง 116.96 จุด, -2.91%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,340.02 จุด ลดลง 414.20 จุด, -3.52%
ในสัปดาห์นี้ทั้งสามดัชนีลดลงมากสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม โดยดัชนีดาวโจนส์ลดลง4.58% ดัชนี S&P500 ลดลง 5.05% และดัชนี Nasdaq ลดลง 5.60%
แรงขายมีไปทั่วตลาด ส่งผลให้หุ้นในดัชนีดาวโจนส์เกือบทั้งหมดปิดลบ และหุ้นที่ปรับลดลลงมากกว่าหุ้นที่ปรับขึ้นถึง 5 ต่อ 1
กระทรวงแรงงานรายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป เดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ตั้งแต่ปี 1981 โดยเพิ่มขึ้น 8.6% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่า 8.3% ที่นักวิเคราะห์คาด เมื่อเทียบรายเดือนดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 1.0% สูงกว่า 0.7% ที่นักวิเคราะห์คาด ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.0% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่า 5.9% ที่นักวิเคราะห์คาด และเมื่อเทียบรายเดือน เพิ่มขึ้น 0.6%
สำหรับนักลงทุน อัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญในการบ่งชี้แนวทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เนื่องจากเฟดมีเป้าหมายที่จะดึงราคาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วให้ลดลง จึงคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้เงินเฟ้อที่ร้อนแรงทำให้กังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนมิถุนายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาและต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1940โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงมาที่ระดับ 50.2 ต่ำกว่า 58.5 ที่นักวิเคราะห์คาด
ปีเตอร์ บุ๊ควาร์ จาก Bleakley Advisory Group กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคตอกย้ำ ผลของ CPI ที่มีต่อผู้บริโภค และสามารถคาดเดาได้ว่าจะส่งผลเชิงลบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในอนาคต
หลังการรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.057% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2008 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นมาที่ 3.178% สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม เนื่องจากนักลงทุนเตรียมกับการดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกของเฟดเพื่อตอบสนองกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีลดลง โดยหุ้นแอปเปิลลดลง 3.9% หุ้นไมโครซอฟต์ลดลง 4.5%หุ้นแอมะซอนลดลงกว่า 5% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ลดลงกว่า 5% หลังโกลด์แมนแซคส์ปรับลดคำแนะนำการลงทุน
ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงอย่างมาก นำโดยกลุ่มธนาคารที่ลดลง 4.9% หลังการรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯที่สูงเกินคาด ขณะที่นักลงทุนตอบสนองผลการประชุมของธนาคารกลางสหภาพยุโรป (European Central Bank:ECB) เมื่อวันพฤหัสบดี
ที่ประชุม ECB ย้ำแผนการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนกรกฎาคมนี้ และอาจปรับอีกครั้งในเดือนกันยายน
Richard Flynnริชาร์ด ฟลินน์ กรรมการผู้จัดการ Charles Schwab ในอังกฤษ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมจะทำให้เกิดความกังวลว่าระดับราคาจะพุ่งสูงขึ้นอีก
“ในการควบคุมราคาที่เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐได้เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจัง แต่ขณธเดียวกันก็มีความเสี่ยงเกิดขึ้น และแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงสุดในเร็วๆ นี้ แต่ก็ไม่น่าจะชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ราคาที่สูงอาจสร้างแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในระยะกลาง
ธนาคารกลางอังกฤษกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า พอใจกับธนาคารใหญ่ของสหราชอาณาจักรไม่อยู่ในสถานะที่ “ใหญ่เกินกว่าจะล้ม too big to fail” อีกต่อไป หลังจากความพยายามร่วมกันในการลดความเสี่ยงต่อระบบการเงินหลังนำเงินภาษีไปช่วยเหลือธนาคารหลายรายใน 2550-2552
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 422.71 จุด ลดลง 11.67 จุด, -2.69%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,317.52 จุด ลดลง 158.69 จุด, -2.12%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,187.23 จุด ลดลง 171.23 จุด, -2.69
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,761.83 จุด ลดลง 436.97 จุด, -3.08%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม ลดลง 84 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 120.67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 1.06 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 122.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล