‘ซิตี้แบงก์’ ปรับเป้าเงินเฟ้อไทยปีนี้แตะ 5.6% คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง 0.25%

HoonSmart.com>> “ธนาคารซิตี้แบงก์” มองอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค.พุ่งแตะ 7.1% เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เหตุปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปี 65 ขึ้นเป็น 5.6% จากเดิม 4.3% หลังคาดการณ์ ธปท.จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.50% เป็น 0.75% ในครึ่งปีหลัง 65 รับการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อเนื่อง

นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2565 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 7.1% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ที่ 5.9% และเดือนเมษายนที่ 4.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานดัชนีราคาผู้บริโภคเร่งตัวขึ้นเป็น 2.3% จาก 2.0%ในเดือนเมษายน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยที่ 5.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7% ด้านกลุ่มพลังงานและอาหารยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา โดยดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 35.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากอัตราการเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนที่ 29.7% ตามราคาน้ำมันดิบโลก และการปรับเพดานราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ

นลิน ฉัตรโชติธรรม

ทั้งนี้ ดัชนีที่อยู่อาศัย ไฟฟ้า และน้ำประปา ปรับเพิ่มขึ้น 6.7% (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนเมษายนที่ขยายตัว 1.0% เนื่องจากฐานต่ำในปีก่อน ต้นทุนผันแปรทางไฟฟ้าที่สูงขึ้น และการปรับขึ้นของราคาก๊าซหุงต้ม ด้านกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในเดือนพฤษภาคมได้ปรับขึ้นเป็น 6.2% (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ส่วนใหญ่จากราคาเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ส่งผลให้ราคาของสินค้าและบริการอื่น ๆ ทยอยปรับขึ้นสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด เช่น กลุ่มการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล

ทั้งนี้ ซิตี้ได้มีการปรับเพิ่มการประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 สูงขึ้นเป็น 5.6% จากก่อนหน้านี้ที่คาดไว้ที่ 4.3% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 จะมีค่าเฉลี่ยที่ 2.0% จากเดิม 1.3% โดยได้คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนล่าสุด บวกกับการปรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบของทีมงานวิจัยด้านสินค้าโภคภัณฑ์ของซิตี้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยในปี 2565 ซิตี้คาดว่าน้ำมันดิบเบรนท์จะเฉลี่ยอยู่ที่ 99 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (จาก 89 ดอลลาร์ก่อนหน้านี้) และในปี 2566 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (จาก 59 ดอลลาร์ก่อนหน้านี้)

นอกจากนี้ การปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเป็น 34 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2565 เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อาจจะส่งผลให้มีการปรับราคาในระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากขึ้น จากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นโดยเฉพาะภาคการขนส่ง และอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ มาตรการอื่น ๆ ของภาครัฐที่ออกมาในช่วงเดือนมีนาคมเผื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานจะเริ่มหมดอายุลง และอาจนำไปสู่การส่งผ่านของต้นทุนที่ไปยังผู้บริโภคมากขึ้น และความเสี่ยงต่อเงินเฟ้ออีกประการคือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 (อาจสูงถึง 5-10% หรือมากกว่าการปรับขึ้นในปี 2560 2561 และปี 2563 ที่ราว 3%

นอกจากนี้ซิตี้ได้คาดการณ์ว่า กนง.มีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% หลังจากเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมสะท้อนว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นและกระจายไปมากกว่าที่คิด โดย กนง. มีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักความสำคัญในด้านการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตเพิ่มขึ้นในช่วงต่อไป หลังจากที่ได้ให้ความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นหลักในช่วงก่อนหน้า แม้ว่า กนง. ได้ลงมติเห็นชอบให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในเดือนมิถุนายน โดยไม่ได้ปรับขึ้นตามที่ซิตี้คาดไว้ แต่การส่งสัญญาณการปรับทิศทางนโยบายการเงินเริ่มชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่สมาชิก กนง. สามท่านโหวตให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ รวมถึง กนง. ที่มองว่าความจำเป็นในการรักษาอัตรานโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์มีน้อยลง หลังเศรษฐกิจมีทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน กนง. ยังแสดงความเป็นห่วงด้านแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจจะเร่งตัวขึ้นในช่วงข้างหน้า ซิตี้จึงคาดว่า กนง. จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากเดิมที่ 0.50% เป็น 0.75% ในการประชุมครั้งหน้าในเดือนสิงหาคม เพื่อยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ และป้องกันการกระจายของแรงกดดันด้านราคาเป็นสำคัญ โดยผลสำรวจของครัวเรือนและภาคธุรกิจเดือนพฤษภาคมต่อการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วง 1 ปีข้างหน้าได้ปรับสูงเกินเป้าหมายนโยบายมาอยู่ที่ 3.1% และ 3.5% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ซิตี้มองว่า กนง. จะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยมากกว่าหนึ่งครั้งในปีนี้ เนื่องจาก ธปท. ยังคงคาดการณ์ว่ากิจกรรมเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโรคระบาดโควิดได้ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่สำหรับปี 2566 ซิตี้คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สองครั้ง คือในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 3 ของปี โดยภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงนั้นน่าจะมีความแข็งแรงเพียงพอสำหรับการปรับนโยบายเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบาย (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต นางสาวนลิน กล่าวทิ้งท้าย