“ทรีนีตี้” เปิดกลยุทธ์ลงทุนเดือนมิ.ย แนะรอซื้อ 1,600-1,620 จุด

HoonSmart.com>>“ทรีนีตี้” เปิดกลยุทธ์ลงทุนเดือนมิ.ย. ตั้งรับ 1,600-1,620 จุด แนะเลือกหุ้น Defensive  , กลุ่มการแพทย์ BDMS, BCH, CHG, IMH, ค้าปลีกแนะ CPALL, MAKRO, BJC  กลุ่มสาธารณูปโภค ติดตามการประชุมเฟด ขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50%  ฝั่งกนง. คาดยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำ แต่แนะติดตามประมาณการเศรษฐกิจรอบใหม่ จะปรับลดลงอีกครั้งหรือไม่ 


นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์  บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้   เปิดเผยว่า ประเมินหุ้นเดือนมิถุนายน SET Index แกว่งตัวแคบ ๆ ในทางลง มีกรอบแนวรับสำคัญ 1,600-1,620 จุด โดยมอง SET ที่ขึ้นเกินกว่า 1,650 จุด เป็นโซนเปราะบางในแง่ของ Valuation โดยเฉพาะในส่วนของมาตรวัด Earning yield gap (EYG) ที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยพอสมควร

เชิงกลยุทธ์ แนะ  “รอ”  หลังขายทำกำไรหุ้นไปแล้ว และรอรับใหม่ตามบริเวณแนวรับที่ให้ไว้  หรืออาจรอให้ Bond yield สหรัฐฯ 10 ปี ลงมาแถวบริเวณ 2.5% เสียก่อน เนื่องจากจะทำให้ EYG ของตลาดหุ้นไทยดูดีขึ้น

นายณัฐชาต กล่าวว่า  สินทรัพย์ที่น่าสนใจเดือนมิ.ย.คือพันธบัตร โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว ที่เป็นสินทรัพย์ที่สามารถ Hedging หรือป้องกันความเสี่ยง จากเศรษฐกิจชะลอตัวได้เป็นอย่างดี  ประเมินว่า หากราคาพลังงานและราคาอาหารในตลาดโลก ยังอยู่สูงเช่นนี้ต่อไป จะเริ่มเห็นเงินเฟ้อแต่ละประเทศสูงขึ้น มอง Upside ของ Bond yield ในช่วงถัดไปค่อนข้างจำกัดแล้ว นอกจากนั้น Earning yield gap ของตลาดหุ้นหลาย ๆ ประเทศตอนนี้ ค่อนข้างต่ำ บ่งชี้ถึงความน่าสนใจของ Bond เมื่อเทียบกับหุ้นได้เป็นอย่างดี

ส่วนการลงทุน แนะนำหุ้น Defensive  ในกลุ่มการแพทย์ (BDMS, BCH, CHG, IMH), ค้าปลีก (CPALL, MAKRO, BJC), สาธารณูปโภค (EGCO, RATCH, EASTW, WHAUP, BPP, CKP) โดยชอบกลุ่มสาธารณูปโภคมากขึ้น จากคุณลักษณะคล้ายคลึงกับพันธบัตร (Bond-like) ค่อนข้างมาก คาดว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ Outperform ในช่วงถัดไป

นอกจากนั้น กลุ่มที่น่าจะได้อานิสงส์หาก Bond yield ทยอยปรับลง คือกลุ่ม Property Fund / REIT/ Infrastructure fund ซึ่งมองว่าค่อนข้างมั่นคง ในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงขึ้นด้วยเช่นกัน  แนะนำเพิ่มน้ำหนักพอร์ตโฟลิโอไปยังสินทรัพย์เหล่านี้มากขึ้นได้

สำหรับปัจจัยที่ทุกคนเฝ้าติดตามในเดือนมิ.ย.นี้  คือ การประชุมของธนาคารกลางสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Fed, ECB, BoE, BoJ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย  จากการประเมิน เชื่อว่า ไม่มีผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์มากนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ นักลงทุนได้ Price in แนวนโยบายการเงินที่เข้มงวดไปอย่างมากแล้ว โดยเฉพาะเฟด ที่นักลงทุนมีการ Price in ประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% ไปยัง 3 ครั้งการประชุมข้างหน้าแล้ว รวมไปถึงประเด็นการลดขนาดงบดุลด้วยเช่นกัน

ส่วนฝั่งกนง.ที่จะประชุมวันที่ 8 มิ.ย.นั้น คาดว่า คงแสดงจุดยืนการคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไป แต่แนะติดตามประมาณการเศรษฐกิจรอบใหม่ ว่าจะมีการปรับลดลงอีกครั้งหรือไม่ โดยเฉพาะภาคอุปสงค์ในประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัด หลังราคาน้ำมันยังคงยืนอยู่ในระดับสูง