ทรีนีตี้ เผยธุรกิจวาณิชธนกิจบูม ปัจจัยหนุน IPO, M&A ขายหุ้นกู้

HoonSmart.com>>บล.ทรีนีตี้ชูจุดแข็งธุรกิจวาณิชธนกิจ บุคลากรเก่ง บริการครบเครื่อง ดึงลูกค้าใหม่เข้ามาเติมอย่างต่อเนื่อง เปิดประเทศหนุนเศรษฐกิจฟื้น เพิ่มความเชื่อมั่นนักธุรกิจระดมเงินทุนขยายการลงทุน เพิ่มโอกาสการเสนอขาย IPO  ออกหุ้นกู้ล็อกต้นทุน และธุรกรรมการซื้อ-ควบรวมกิจการ เผยงานในมือตรึม ปี 65 โต จากปีก่อนมีรายได้ค่าที่ปรึกษาและค่าธรรมเนียม 125.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 130.78%

นายดิถดนัย สังขะรมย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB)ของบริษัทมีการเติบโตสูง โดยในปี 2564 มีรายได้ค่าที่ปรึกษาและค่าธรรมเนียมประมาณ 125.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 130.78% จากปีก่อนทำได้จำนวน 54.51 ล้านบาท ปัจจุบันมีดีลเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนให้ประชาชนครั้งแรก ( IPO) ประมาณ 9-10 บริษัท รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาและเสนอขายหุ้นกู้ 4-6 ดีล และยังเป็นที่ปรึกษาในการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) อีก 3-4 บริษัท เช่น กลุ่มโลจิสติกส์ และพลังงานทดแทน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะการพัฒนาต้องใช้เวลา และเพื่อขยายฐานลูกค้า

แนวโน้มธุรกิจวาณิชธนกิจในปี 2565 เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังคึกคักมากขึ้น ภาคธุรกิจเตรียมพร้อมเข้าระดมเงินทุน ทั้งการเสนอขาย IPO และหุ้นกู้ เพื่อล็อกต้นทุนดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และนำเงินไปขยายธุรกิจ ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนมากขึ้น หลังมีการเปิดประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศกลับมาฟื้นตัวขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ทรีนีตี้เสนอขาย IPO แล้ว 6 ดีล มูลค่า 4,000 ล้านบาท เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล (KCC) และเตรียมเสนอขายหุ้นของบริษัทเบล็ส แอสเสท กรุ๊ป (BLESS) อยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่ง บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH)

” ในปี 2564 เราเสนอขาย IPO รวม 2,800 ล้านบาท สูงสุดติดอันดับ1ใน 5 ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่มีแม่เป็นธนาคาร ได้ลูกค้าใหม่จากการแนะนำปากต่อปาก เพราะมีจุดเด่น ด้านความพร้อมด้านบุคลากรที่มีประสบการณ์มายาวนาน มีผลงานในการพาลูกค้าเข้าตลาดหลักทรัพย์สม่ำเสมอ มีฐานนักลงทุนหลากหลาย ที่สำคัญเสนอบริการครบวงจร หรือ “ONE STOP SERVICE” และเต็มรูปแบบ เช่น มีการออกบทวิจัยแนะนำการลงทุนให้กับนักลงทุนสถาบันและรายย่อย ” นายดิถดนัย กล่าว

นอกจากนี้ยังมีบริการเตรียมความพร้อมในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทางทรีนีตี้มีการจัดตั้งบริษัท ทรีนีตี้ อินเทลลิเจนส์ พลัส เข้าไปช่วยวางระบบการควบคุมภายในที่ดี ซึ่งเป็นหนึ่งคุณสมบัติที่สำคัญของการเข้าตลาด  เสนอบริการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับบริษัทในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาธุรกิจให้มีมาตรฐาน มีโครงสร้าง และระบบการบริหารจัดการที่ดีขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ไม่ว่าบริษัทนั้นจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ก็ตาม บริษัทขอเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้ลูกค้า และหากลูกค้ามีเป้าหมายที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ถือเป็นการส่งต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีคุณภาพให้กับตลาดหุ้นไทยอีกด้วย

บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาในการเป็นที่ปรึกษาครอบคลุมครบทุกด้าน โดยล่าสุดบริษัทเตรียมจะเข้าไปเพิ่มโอกาสการเป็นที่ปรึกษาในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล ICO ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างเหมาะสม

ด้านนางสุพัตรา ภู่พัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ทรีนีตี้ รับผิดชอบงานตราสารหนี้ กล่าวว่า บริษัทฯไม่มีแม่เป็นธนาคาร ไม่ถือเป็นจุดเสียเปรียบ กลับมองเป็นผลดี ลูกค้ามีโอกาสได้ต้นทุนที่ต่ำ จากการเลือกบริการจากธนาคารหลายแห่ง  โดยทรีนีตี้มีความสามารถในการแข่งขัน จากฐานลูกค้าหลากหลาย พร้อมลงทุน

ส่วนกรณีบริษัทจดทะเบียนเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัลที่ขายผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” มากขึ้น บริษัทไม่ได้มีความกังวล เนื่องจากลูกค้าคนละกลุ่ม ทรีนีตี้จับลูกค้าขนาดกลางและเล็ก ในแต่ละปีบริษัทจะมีดีลที่เข้าไปเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ 3-4 ดีล และเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นกู้ประมาณ 5-6 ดีล ในปี 2564 บริษัทมีมากกว่า 10 ดีล คาดว่าในปีนี้ไม่น้อยกว่าปีก่อน ในช่วง 6 เดือนแรก ประสบความสำเร็จแล้ว  6 ดีล มูลค่าระดมทุนรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท

สำหรับลูกค้าในมือที่เตรียมเข้ามาระดมทุนทั้งขายหุ้น IPO และขายหุ้นกู้ กระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ ด้านเทคโนโลยี ธุรกิจเกษตรและอาหาร ค้าปลีก การเงิน ไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) ทั้งนี้ลูกค้าที่พาเข้าตลาดหลักทรัพย์ ประมาณ 50% จะเป็นลูกค้าในการเสนอขายหุ้นกู้  เช่น เมื่อเดือนเม.ย. 2565 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอลประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้ อายุ 1 ปี 6 เดือน มูลค่า 350 ล้านบาท แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในทิศทางขาขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด 0.50% และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก จะเป็นปัจจัยผลักดันให้ภาคธุรกิจเร่งออกและเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มมากขึ้น เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงิน