BCAP มองหุ้นครึ่งปีหลังยังผันผวน แนะกระจายลงทุน-ชู “หุ้นจีน-ไทย” พื้นฐานแกร่ง

HoonSmart.com>> บลจ.บีแคป ประเมินตลาดหุ้นครึ่งหลังปี 65 ยังผันผวนปัจจัยเสี่ยงยังสูง กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจและผลประกอบการ ด้าน “เฟด” ยังปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ พร้อมปรับลดวงเงินคิวอี แนะนักลงทุนกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลาย ชูตลาดหุ้นจีนและไทย น่าสนใจ ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศน้อย

ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางกอกแคปปิตอล (BCAP) กล่าวว่า แม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ทีมผู้จัดการกองทุนมองว่าเป็นเพียงการรีบาวน์หรือปรับขึ้นช่วงสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจาก ทีมผู้จัดการกองทุน BCAP ประเมินว่าในปี 2022 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 2.50-2.75% หากเป็นการขับรถถือว่าคนขับกำลังกดแป้นเบรคอย่างหนัก ซึ่งจะเป็นผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนปรับลดลงในระยะต่อไป

ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร

ทีมผู้จัดการกองทุนมองว่าการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของ Fed เพื่อเข้าควบคุมเงินเฟ้อ สืบเนื่องจากมุมมองที่ผิดพลาดในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ประเมินว่าเงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว จนละเลยที่จะควบคุมเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงปี 2021 แม้ว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ฯ จะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือน มี.ค. และจะค่อย ๆ ปรับลดลงในช่วงที่เหลือของปี แต่ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า Fed คงจะยืนยันขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บกระสุนหรือเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรงในอนาคต อีกประเด็นที่ BCAP จับตาอย่างใกล้ชิดคือการถอนสภาพคล่องออกจากระบบ หรือการทำ Quantitative Tightening (QT)

ดร.ธนาวุฒิกล่าวว่า การทำ QT ของสหรัฐฯ จะเริ่มต้นในเดือน มิ.ย. นี้ในจำนวน 9.5 แสนล้านเหรียญฯ ต่อเดือน ทีมผู้จัดการกองทุนประเมินว่าหาก Fed ลดปริมาณเงินดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2024 จะส่งผลต่องบดุลต่อ GDP ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ลดลงจาก 37% ในปัจจุบันเหลือเพียง 20% ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมี 2 เรื่องหลัก ๆ คือ 1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และ 2) แรงสนับสนุนในการออมเงิน/การลงทุนในตลาดการเงินที่จะลดลง โดยฝ่ายวิจัยมองว่าช่วงต่อไปตลาดหุ้นจะมีความผันผวนมากขึ้น ในขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นจะลดลงเทียบกับช่วงที่ Fed อัดฉีดสภาพคล่องหลังวิกฤตการเงินในปี 2008 ซึ่งการลงทุนอาจจะใช้ความระมัดระวังที่เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงครึ่งหลังของปีฝ่ายวิจัยแนะนำให้เน้นการลงทุนหุ้นในกลุ่มประเทศที่มีมูลค่าพื้นฐานถูก ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีอัตราการเติบโตดี และ/หรือ มีความเสี่ยงต่อการเมืองระหว่างประเทศจำกัด คือประเทศจีนและไทย

“หลังมีแรงเทขายกดดันราคาหุ้นจีนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากมาตรการ Lock Down ในเมืองสำคัญ ๆ เช่น ปักปิ่งและเซี่ยงไฮ้ ทำให้หุ้นจีนมีราคาพื้นฐาน (Valuation) ที่ถูกเทียบกับทั้งอดีตและประเทศอื่น แต่ล่าสุดมีสัญญาณการเปิดเมืองพร้อมการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล ทำให้เราประเมินว่าเศรษฐกิจจีนกำลังจะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 นี้ ขณะที่หุ้นไทยอาจจะมี Valuation ที่ค่อนไปทางแพงเล็กน้อยเนื่องจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ช่วงต้นปี ”ดร.ธนาวุฒิกล่าว

ดร.ธนาวุฒิกล่าวว่า ในแง่นโยบายการเงิน ประเทศไทยยังมีแนวโน้มผ่อนคลายเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป อีกทั้งมีแรงส่งจากปัจจัยนอกประเทศ เช่น การส่งออกและนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาจากการเปิดประเทศจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี อีกทั้งผลกระทบโดยตรงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีค่อนข้างต่ำ จากนโยบายเป็นกลางของไทย นักลงทุนต่างชาติจึงมองเราเป็นหลุมหลบภัยและจะมี Fund flow ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ดังนั้นการลงทุนในประเทศจีนและไทยน่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้