ดาวโจนส์ปิดลบกว่า 200 จุด วิตกราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงกว่า 200 จุด ท่ามกลางการซื้อขายผันผวนจากแรงขายต่อเนื่อง นักลงทุนกังวลเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ฟาก “ยูโรโซน” รายงานเงินเฟ้อเดือนพ.ค.พุ่ง 8.1% ฉุดตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง แรงขายกลุ่มค้าปลีกนำ กังวลธนาคารหลายประเทศ จะเร่งดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรปที่อาจขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนก.ค. ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 40 เซนต์ปิดที่ 114.67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ปิดที่ 32,990.12 จุด ลดลง 222.84 จุด หรือ 0.67% ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนจากแรงขายที่ต่อเนื่องกลบแรงซื้อ ด้วยความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากนี้เป็นเดือนที่ดัชนี S&P 500 แตะระดับที่จะเข้าสู่แดนหมี(bear-market territory) ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,132.15 จุด ลดลง 26.09 จุด, -0.63%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,081.39 จุด ลดลง 49.74 จุด, -0.41%

นักลงทุนวิตกว่าเงินเฟ้อที่สูงจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ยูโรโซนรายงานเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 8.1% เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 7 และสูงเป็นประวัติการณ์

ในเดือนนี้ตลาดผันผวนจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี และเกรงว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะพยายามคุมราคาที่พุ่งสูงขึ้นด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้เศรษฐกิจถดถอย

ไมค์ วิลสัน จากมอร์แกน สแตนเล่ย์ระบุในบทวิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงเกินไปสำหรับเฟด และดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนคาดหวังว่าเฟดจะชะลอขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนั้น จะไม่สามารถเปลี่ยนแนวโน้มขาลงของราคาหุ้น

นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการ เฟด มองว่าเฟดต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างต่อเนื่องในเวลาที่เหลือของปี และเขาสนับสนุนการปรับขึ้นราคาที่เกินระดับ “เป็นกลาง” ซึ่งถือว่าไม่สนับสนุนหรือจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจ

หากประเมินจากที่เฟดมองระดับดอกเบี้ยที่เป็นกลาง 2.5% ในเดือนมีนาคม หมายความว่านายวอลเลอร์เห็นว่าดอกเบี้ยจะขึ้นอีก 2% จากนี้

นอกจากนี้ภาวะตลาดน้ำมันก็สร้างความกังวลให้นักลงทุน โดยช่วงแรกราคาน้ำมันปรับขึ้น ไปแตะระดับสูงสุดของ ซึ่งราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 3.6% แตะ 118.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้น 3.7% แตะ 123.83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากการที่สหภาพยุโรปตกลงที่จะห้ามนำเข้านำมันจากรัสเซีย และการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของจีน แต่ได้ลดลงหลังจากรายงานดิ วอลล์ สตรีต เจอร์นัลว่า กลุ่มประเทศ OPEC กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในข้อตกลงด้านการผลิตของ OPEC+

หุ้นกลุ่มพลังงานปรับลดลง โดยหุ้นเชฟรอนลดลง 2% หุ้นชลัมเบอร์เกอร์ลดลง 4.3%
หุ้นกล่มอุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับวงจรเศรษฐกิจปรับตัวลดลง โดยหุ้นฮันนีเวลลส์ลดลง 1.4% หุ้นนูคอร์ลดลงl 3.8%
หุ้นเฮลธ์แคร์ปรับตัวลดลง โดยหุ้นยูไนเต็ดเฮลธ์ กรุ๊ปลดลง 2%

นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานในสัปดาห์นี้ ทั้งการจ้างงานภาคเอกชนเดือนพฤษภาคมจาก ADP จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤษภาคม.จากกระทรวงแรงงาน

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นำโดยกลุ่มค้าปลีกที่ลดลง 1.7% จากตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้กังวลว่าธนาคารหลายประเทศ จะเร่งดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยเฉพาะธนาคารกลางสหภาพยุโรปที่อาจจะขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

เงินเฟ้อยูโรโซนเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 8.1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ขณะที่เงินเฟ้อเยอรมนีเพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่า 8.0% ที่นักวิเคาะห์คาด และเพิ่มขึ้นมาจาก 7.8% เดือนเมษายน

เงินเฟ้อฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 5.8% เกินกว่าที่คาด

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 443.35 จุด ลดลง 3.22 จุด, -0.72%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,607.66 จุด เพิ่มขึ้น 7.60 จุด, +0.10%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,468.80 จุด ลดลง 93.59 จุด, -1.43%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,388.35 จุด ลดลง 187.63 จุด, -1.29%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคมลดลง 40 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 114.67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 1.17 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 122.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล