KTAM Focus : US-to-China Rotation

โดย..ณัฏฐะ มหัทธนา, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย

ผู้นำระส่ำหนัก “หุ้นสหรัฐ” ซึ่งเคยสร้างผลตอบแทนโดดเด่นน่าประทับใจในช่วงเวลาส่วนใหญ่ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา กำลังเผชิญแรงกดดันมหาศาล สืบเนื่องจากเฟด “ผู้ใหญ่ใจดี” ซึ่งเคยเลี้ยงดูประคบประหงมสินทรัพย์สหรัฐด้วยมาตรการผ่อนคลายสุดขั้ว ต้องกลับตัว 180 องศา หันมาใช้นโยบายเข้มงวด ขึ้นดอกเบี้ย-ลดขนาดงบดุล มุ่งควบคุมเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว จนเกิดปรากฏการณ์ revaluation ระดับราคาหุ้น (P/E) ดิ่งลงครั้งใหญ่นำโดย growth stocks กลุ่มเทคโนโลยี

สภาวะทางการเงิน (financial conditions) ตึงตัวรวดเร็ว ยีลด์พันธบัตรพุ่ง ราคาหุ้นร่วง credit spreads กว้างขึ้น ดอลลาร์แข็งค่า องค์ประกอบทั้งหมดเกิดพร้อมกันอย่างรุนแรงในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ สภาพดังกล่าวนอกจากวนกลับไปทุบตลาดหุ้นลงต่อแล้วยังลามถึงเศรษฐกิจจริง ตลอดจนกดดันความสามารถสร้างกำไร (profitability) ของธุรกิจอเมริกันเป็นวงกว้าง

Peak Dollar ดอลลาร์พลิกอ่อนค่า DXY -1.74% จากจุดพีค 12 พ.ค. (วันนั้น Jerome Powell ส่งสัญญาณ “เข้มสุดซอย” โดยกล่าวว่า เสถียรภาพของราคาสำคัญสุด) สภาพคล่องจึงเริ่มกลับเข้าสู่ตลาด สนับสนุนทฤษฎี peak hawkishness เฟดโชว์ท่าทีเข้มงวดกว่านี้ได้ยากแล้ว ดังนั้น ยีลด์แท้จริง และ ค่าเงินดอลลาร์ ก็น่าจะผ่านจุดพีคไปแล้วเช่นกัน

สภาพคล่องกลับมาแต่ยังมี Stagflation ต้นทุนพุ่ง-ดีมานด์หด กดแนวโน้มกำไรหมองฉุด S&P 500 เฉียดสภาวะ “หมี” เมื่อวันศุกร์ (20 พ.ค.) ดัชนีร่วงระหว่างวันจนติดลบเกิน 20% จากจุดสูงสุดประวัติการณ์ ก่อนรีบาวด์ปิดบวกได้เบาๆ

หุ้นจีนบวกสวนสหรัฐ ในช่วงเกือบเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่ผ่านจุดต่ำสุด 26 เม.ย. ถึงวันศุกร์ (20 พ.ค.) ดัชนีหุ้นจีนเอแชร์ CSI 300 +7.76% ขณะตัวแทนตลาด All China: iShares MSCI China ETF +6.97% ตรงข้ามกับดัชนีหุ้นสหรัฐ S&P 500 -6.56%

JPMorgan อัพเกรดวิวหุ้นเทคจีนหลายตัว รวมถึง Tencent, Alibaba, Meituan, NetEase, Pinduoduo จาก underweight เป็น overweight เพียง 2 เดือนหลังแบงก์ใหญ่สุดของสหรัฐเคยบอก “ลงทุนไม่ได้” (uninvestable) โดยระบุว่าความเสี่ยงลดลงแล้ว

ธนาคารกลางจีน (PBOC) ลดดอกเบี้ยระยะยาวแรงกว่าคาด (20 พ.ค.) loan prime rate (LPR) 5 ปี ปรับลง 15 bps จาก 4.6% เหลือ 4.45% (แรงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลด 10 bps) นับเป็นการปรับ LPR ลงมากสุดตั้งแต่ปฏิรูปดอกเบี้ยปี 2019 ขณะ LPR 1 ปี คงเดิม 3.7% (คาดลด 5-10 bps) หุ้นจีนเฮรับข่าว CSI 300 +1.95%, MSCI China +2.79%

“จีน” น่าลงทุนที่สุด เพราะอะไร? ในมุมมองของเรา

+ จีนล็อกดาวน์ ว่างงานพุ่ง ส่งผลข้างเคียงกดดีมานด์ลงชั่วคราว ดังนั้น แม้ทั่วโลกเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อสูงจนธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยรัวๆ แต่เงินเฟ้อจีนปัจจุบันสูงเฉพาะฝั่งผู้ผลิต (PPI) ขณะดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) โตต่ำกว่าเป้ามาก เปิดช่องให้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก

+ จีนตุนสินค้าโภคภัณฑ์เอาไว้มหาศาลหลายรายการ อีกทั้งพยายามรักษาสมดุลระหว่าง “เปิดช่องซื้อปัจจัยการผลิตราคาถูก” กับ “เอาตัวรอดไม่ให้โดนคว่ำบาตร” น่าจะช่วยลดต้นทุนฝั่งซัพพลาย

+ รัฐบาลมุ่งช่วยเหลือภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการจ้างงาน สัญญาณชัดตั้งแต่ นายกฯหลี่ เค่อเฉียง เลือกดันนโยบาย “ลดภาษีภาคธุรกิจ”

+ ปัจจัยดังกล่าวสนับสนุนการลงทุนทั้งตลาดหุ้นและตลาดเครดิตของจีน เพื่อรับโอกาสฟื้นตัวในช่วงต้นของวัฏจักร ผ่านกองทุน KT-Ashares, KT-CHINA และ KT-CHINABOND

จีนเพิ่มดีกรีกระตุ้นเศรษฐกิจ พลิกทิศ “หยวน” กลับแข็งค่า หุ้นเด้ง-บอนด์มา พาตลาดจีนคืนชีพ!

ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:45 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade, Youtube: KTAM TV ONLINE หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสามช่องทาง นอกจากนี้ดูคลิปย้อนหลังได้ทั้ง Youtube และ Facebook

#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน