SMD ชู ATK-เครื่องช่วยหายใจ ดันกำไร 136.71 ล้านบ. โตกระฉูด 1,621%

HoonSmart.com>>” เซนต์เมด”  รับอานิสงส์โควิด-19 ยอดขาย ATK-เครื่องช่วยหายใจ ดันกำไรพุ่งปรี๊ด 136.71 ล้านบาท หรือ 1,621% 

บริษัท เซนต์เมด (SMD) แจ้งผลดำเนินงานไตรมาส 1/2565 กำไรสุทธิ 136.71 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.64 บาท  เพิ่มขึ้น 128.77 ล้านบาท หรือ 1,621.79 % เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิ 7.94 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.05 บาท

บริษัท ฯ ชี้แจง ฯ กำไรสุทธิ Q1/65 เพิ่มขึ้น 1,621% อัตรากำไรสุทธิ 19.29% เพิ่มขึ้น 14.18% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจาก การเติบโตของรายได้จากการขายและการบริการ ขณะที่ควบคุมค่าใช้จ่ายให้เติบโตในอัตราที่ต่ำกว่า

มีปัจจัยสำคัญหลัก คือ 1.การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป รองลงมาคือ กลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับ ที่มีความจำเป็นต่อการตรวจคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และ 2. การอ่อนค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น

สำหรับรายได้จากการดำเนินงานหลัก บริษัท ฯ มีรายได้การขาย-บริการ Q1/65 จำนวน 708.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 553.20 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 355.88% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีรายได้ส่วนใหญ่จากลูกค้าเอกชน 75.49% เพิ่มขึ้นจาก 30.10% ในช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจาก มีการขายชุดตรวจ ATK ให้บริษัทเอกชน ขนาดใหญ่ เพื่อจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ

ขณะมีที่สัดส่วนลูกค้าภาครัฐบาล ไตรมาส 1/2565 เท่ากับ 24.51% ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าโรงพยาบาลรัฐบาล  โดยเป็นงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ที่มีความจำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และบริษัทมีการส่งมอบสินค้าตามงบลงทุนที่อยู่ใน  Backlog

ทั้งนี้รายได้จากการขายสินค้า Q1/65 มีจำนวน 703.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 551.31 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 363.38% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักจากการเติบโตของยอดขายสินค้าในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป เนื่องจากมีคำสั่งซื้อ ATK จำนวนมาก จากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ รองลงมาคือ สินค้ากลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการตรวจคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ประกอบกับมีการส่งมอบสินค้าได้ตาม  Backlog

ขณะเดียวกัน ต้นทุนการขายและการบริการ ใน Q1/65 จำนวน 482 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  389.71 ล้านบาท หรือ 422.33% สาเหตุจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น เช่น ต้นทุนสินค้าจากการอ่อนค่าของเงินบาท เทียบดอลลาร์สหรัฐ  และมีการสำรองสินค้าล้ำสมัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้าเกี่ยวข้องกับโควิด ปรับราคาลง อีกทั้งสัดส่วนต้นทุนขายรวม เทียบกับรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้นเป็น 68 % จาก 59.36% ใน Q1/64